‘ซีพี’ ชงรบ.เปลี่ยนนโยบายเกษตร “แปรรูปพืชพลังงาน” ลดขาดดุล 2 แสนล.
‘ซีพี’ หนุนแปรรูปพืชพลังงานลดขาดดุล 2 แสนล. ไบโอเทคชงตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ชาติ ‘ดร.แดน’ ชี้จำนำข้าวถ่วงงานวิจัยคุณภาพค้างหิ้ง
เร็วๆนี้ ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดประชุม ‘ยุทธศาสตร์วิจัยเกษตรไทย...ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง’ โดยนายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘อนาคตเกษตรไทย’ ว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรปีละ 1.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันก็นำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ประเทศขาดทุนถึง 2 แสนล้านบาท ทั้งที่ไทยสามารถปลูกพืชพลังงานสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสัมปะหลัง ที่นำไปแปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล แทนน้ำมันเบนซินและน้ำดีเซลได้
“บ้านเราไม่มีการจัดสรรพื้นที่ว่าควรมีการปลูกพืชชนิดนี้ได้ปริมาณเท่าไหร่ หรือการให้ข้อมูลแก่เกษตรกรว่าพื้นที่ของเขาเหมาะกับการปลูกพืชใด อย่างเช่นเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวแต่พื้นที่ไม่เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตต่ำ จึงควรหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานแทนเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองผลิตเชื้อเพลิงใช้ได้เอง โดยต้องสร้างตลาดรองรับให้เกษตรกร”นายมนตรี กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.มรกต ตันติเจริญ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(โอเทค) กล่าวในหัวข้อ ‘เกษตรอนาคต เกษตรอัจฉริยะ’ ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ คือภาครัฐต้องให้ข้อมูลและคำแนะนำเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ในการตัดสินใจผลิตสินค้าต่างๆ ให้พอเพียงต่อความต้องการของตลาด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปรับปรุงพันธ์พืชคุณภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่และปรับตัวต่อสภาวะอากาศได้ทุกรูปแบบ เช่น ข้าวหอมมะลิ105ที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมได้
ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ยอดการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยที่ลดลงทุกปีนั้น เนื่องมาจากปัจจุบันไทยไม่อนุญาตให้พัฒนาและทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรม (พืชจีเอ็มโอ) ภายในประเทศซึ่งอาจทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไป เพราะไม่สามารถแข่งขันสู้ประเทศอื่นซึ่งผลิตพืชจีเอ็มโอได้ โดยเห็นว่ารัฐบาลควรจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งชาติ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธุ์สูญหายด้วย
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวในการบรรยายเรื่อง ‘เปิดมุมมองงานวิจัย สู่ประชาคมอาเซียน’ ว่า ในช่วง 5 ปีแรกของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไทย จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และเป็นประเทศศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศอาเซียน อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นอุปสรรคของงานวิจัยภาคเกษตรในไทย ยังมีปัจจัยของกลไกการตลาดที่ถูกบิดเบือนเพราะนโยบายประชานิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เช่น โครงการรับจำนำข้าว การรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก จะทำให้อนาคตนอกจากไทยจะขาดสภาพคล่องทางการเงินแล้ว ยังจะทำให้ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านแปลงเป็นสัญชาติไทยไหลเข้าร่วมโครงการด้วยมูลเหตุของราคาที่จูงใจกว่าตลาดใดในโลก โดยผู้รับซื้อข้าวเพื่อนบ้านคือประชาชนไทยผู้เสียภาษีนั่นเอง
“การบิดเบือนกลไกราคาข้าวด้วยโครงการจำนำ จะทำให้นักวิจัยลงเหวตามไปด้วย ข้าวคุณภาพที่อุตส่าห์วิจัย จะไม่มีใครสน เพราะเพราะทุกคนเน้นผลิตขายเชิงปริมาณ ขณะที่รัฐบาลทำตามใจเพราะวัตถุประสงค์ทางการเมือง ดังนั้นแม้จะมีการวิจัยด้านเกษตรที่มีคุณภาพ แต่งานวิจัยก็จะกลายเป็นงานวิจัยบนหิ้งที่ไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์ ฉะนั้นงานวิจัยจึงต้องเข้าใจสถานการณ์รอบด้านในประเทศ และต่างประเทศ ” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้งานวิจัยด้านเกษตรยังต้องคำนึงถึงการผนึกกำลังร่วมในภูมิภาคด้วย เช่น การวิจัยความร่วมมือด้านการจัดสรรและใช้ทรัพยากรน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดสงครามแย่งน้ำในภูมิภาคเนื่องจากความขาดแคลนน้ำที่จะเกิดในอนาคต .
ที่มาภาพ ::: http://store.saveyourworld.com/The-Two-Headed-Palm-Oil-Monster-s/1605.htm