ผลวิจัยเสนอ6ประเด็นปฏิรูป"กองทุนยุติธรรม" กับ3แนวทางเสริมแกร่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กองทุนยุติธรรม" เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายหลังเกิดเหตุชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2552-2553 และมีผู้คนถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียหายต้องการรับความช่วยเหลือทางคดีจำนวนไม่น้อย
เช่นเดียวกับที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจำนวนกว่า 500 คนที่ถูกคุมขังโดยไมได้รับการประกันตัว
และรัฐก็ใช้ "กองทุนยุติธรรม" เป็นกลไกในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการวางหลักทรัพย์สำหรับปล่อยชั่วคราว หรือประกันตัว
แต่ที่ผ่านมาการบริหารกองทุนยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นกองทุนของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้รับงบประมาณอุดหนุนอย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง และยังปัญหาการ "เข้าถึง" กองทุนยุติธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัด
ที่ผ่านมามีหลายแนวคิดที่เสนอให้ปฏิรูปกองทุนยุติธรรมมาโดยตลอด ล่าสุดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ร่วมจัดทำรายงานวิจัยข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง "กองทุนยุติธรรม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.2554 ถึง มี.ค.2556 จากความร่วมมือขององค์กรภาคี นำโดย สหภาพยุโรป (European Union) และมูลนิธิ คอนราด อาเดนาวร์
กำเนิดกองทุนยุติธรรมและข้อเสนอปฏิรูป
กองทุนยุติธรรมได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สังกัดกระทรวงยุติธรรม
สาเหตุของการตั้งกองทุนยุติธรรมก็เนื่องมาจากมีผู้เดือดร้อนทั้งที่ถูกดำเนินคดีและผู้เสียหายเข้ายื่นขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัว ทำให้กระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดจัดตั้ง "กองทุน" ขึ้นมารองรับ แต่เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่แน่นอน จึงเกิดปัญหาในการบริหารงานกองทุน และไม่สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
ทั้งนี้ รายงานการวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะเอาไว้ 6 ประการ ประกอบด้วย
1.พัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีแหล่งทุนสนับสนุนกองทุนยุติธรรมให้เพียงพอและต่อเนื่องกับความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือ พร้อมขยายขอบเขตของกองทุนยุติธรรม และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่ให้สามารถดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.การใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว ควรทำความตกลงกับศาลใช้หนังสือรับรองแทนการนำหลักทรัพย์มาวางต่อศาล เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ขอรับการสนับสนุนรายอื่นๆ จากกองทุนยุติธรรมได้มากยิ่งขึ้น
3.ควรกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือไปยังอนุกรรมการในแต่ละภูมิภาค โดยให้คณะกรรมการกลางของกองทุนฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจาณาอนุมัติสนับสนุนให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและทั่วถึงในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
4.ควรการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนยุติธรรมในด้านต่างๆ ดังนี้
- ขยายการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในการส่งเสริมมาตรการเชิงป้องกัน ได้แก่ การอบรมกฎหมายแก่ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย อันเป็นการช่วยลดการละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ขยายการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการถูกควบคุมตัวทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือไม่
- ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานเอกชนหรือหน่วยงานอิสระที่มีศักยภาพและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือนั้นสามารถทำได้อย่างครอบคลุม สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในแต่พื้นที่ และมีการจัดการประเมินผลการให้บริการในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
- ควรมีการกำหนดมาตรฐานของทนายความที่เข้ามาลงทะเบียนกับกองทุนฯ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และควรกำหนดค่าตอบแทนการว่าความของทนายความให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยคำนึงถึงรูปแบบคดี ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ประวัติการทำงาน และอื่นๆ
ปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน-กำกับดูแล
5.กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทุนยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด หน่วยงานทางฝ่ายปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวประชาชน เพื่อให้บุคคลากรในหน่วยงานดังกล่าวได้แจ้งสิทธิและประชาสัมพันธ์การให้ความเหลือของกองทุนยุติธรรม
6.บทบาทของกองทุนยุติธรรมยังมีปัญหาความซ้ำซ้อนในการให้บริการและจำนวนทนายความที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ รัฐจึงควรมีนโยบายว่ากองทุนยุติธรรมเป็นผู้จัดสรรทุนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา สภาทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นต้น ได้ทำงานช่วยเหลือประชาชนโดยกองทุนยุติธรรมมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้กำกับและประเมินผลการทำงานของหน่วยงานที่กองทุนยุติธรรมได้สนับสนุน ดังนั้นควรยกเลิกบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยตรง
ปชป.หนุนทำควบคู่ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ
ในโอกาสที่มีการนำเสนอรายงานการวิจัย ทางคณะผู้วิจัยได้นำรายงานการวิจัยเข้ายื่นเสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วย โดย นายอภิสิทธิ์ได้ให้ความเห็นหลายประการ และเน้นว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการช่วยเหลือผ่านกองทุนฯ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปรับปรุงระเบียบดังกล่าวควรทำควบคู่ไปกับการทบทวนการพิจารณาประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในพื้นที่ และพรรคประชาธิปัตย์จะให้การสนับสนุนข้อเสนอแนะของงานวิจัยเพื่อนำไปใช้เป็นนโยบายทางเลือกในการดับไฟใต้ ประกอบกับการลงนามในการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียเมื่อไม่นานมานี้
สำหรับกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่นายอภิสิทธิ์พูดถึง ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)
ย้อนดูข้อเสนอ "อ.ปกป้อง" ชง 3 ข้อเสริมแกร่งกองทุนฯ
ก่อนหน้านี้เมื่อราวปี 2554 ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอแนวทางปฏิรูปกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง สามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ได้เข้าถึงความยุติธรรมจำนวนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายของกองทุนฯ
ทั้งนี้ รายจ่ายของกองทุนยุติธรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1) ค่าขึ้นศาลหรือค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเป็นการใช้สิทธิทางศาล โดยจ่ายร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ต้องการเรียกร้อง
2) ค่าทนายความ
3)ค่าประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
เมื่อต้องการให้กองทุนยุติธรรมสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้มากขึ้นและดีขึ้น จึงต้องบริหารจัดการให้กองทุนมีรายได้เพิ่ม มีการบริหารจัดการที่ดี และมีความมั่นคง โดยแนวทางที่เสนอในส่วนของการเพิ่มรายได้ให้กองทุนฯ คือ การทำรายรับกับรายจ่ายให้สัมพันธ์กัน โดย
ทางที่หนึ่ง เรื่องค่าขึ้นศาล ซึ่งกองทุนฯมีภาระต้องนำเงินไปช่วยผู้ยากไร้ที่จะต้องขึ้นศาลในการดำเนินคดีแพ่ง กฎหมายควรกำหนดให้นำเงินค่าขึ้นศาลบางส่วนหักเข้ากองทุนยุติธรรม วิธีการนี้เป็นการนำเงินบางส่วนของคนรวยที่มีเงินจ่ายค่าขึ้นศาลมาใส่เข้ากองทุนฯ แล้วกองทุนฯก็นำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ไม่มีเงินค่าขึ้นศาล
ทางที่สอง การเพิ่มรายได้จากค่าทนายความ ก็ทำเช่นเดียวกับกรณีแรก เมื่อกองทุนฯมีภารกิจช่วยผู้ยากไร้เรื่องทนายความ กฎหมายก็ควรกำหนดให้มีการหักค่าจ้างทนายความของคนรวยบางส่วน (เป็นเปอร์เซ็นต์) มาเข้ากองทุนยุติธรรม แล้วกองทุนจะมีรายได้มากขึ้นเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าทนายความดี ๆ ให้กับคนยากไร้ วิธีการนี้ไม่ได้ทำให้ทนายความต้องมีภาระเพิ่มแต่อย่างใด เพราะทนายความก็จะผลักภาระส่วนนี้ไปเรียกเก็บกับลูกความที่มีฐานะดีอยู่นั่นเอง
ทางที่สาม ภาระเรื่องเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีการใช้เงินจำนวนมาก แนวคิดที่เสนอคือการขอแบ่งส่วนหนึ่งของเงินประกันที่ศาลริบในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี (เป็นเปอร์เซ็นต์) หักส่วนนี้นำมาสมทบเข้ากองทุนเพื่อให้กองทุนมีเงินไว้ไปใช้ในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ยากไร้ในคดีอื่น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากหน้าเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม