“ปิยสวัสดิ์” จี้รัฐจริงจังส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียน รับมือวิกฤติก๊าซขาดแคลน
อดีตรมว.พลังงาน ฉะประเทศไทยเมินลังงานหมุนเวียน กลับไปพึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึง 70% ขณะที่การสำรองทำได้ไม่ดีพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จนเสียค่าใช้จ่ายโดยใช้เหตุ
วันที่ 4 เมษายน มูลนิธิเพื่อพลังงานสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาประจำปี เรื่อง “ข้อเท็จจริง พลังงานหมุนเวียนทำให้ค่าไฟแพงจริงหรือไม่” ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม ซี ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยนาย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ค่าไฟแพง ไฟขาดแคลน แก้ได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน”
ดร. ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงพลังงานหมุนเวียนว่า มีความสำคัญกับประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เนื่องจากสามารถลดต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายของกระทรวงพลังงานให้มีสถานะที่มั่นคงได้ พร้อมทั้งยังลดภาระการพึ่งพาพลังงานจากประเทศข้างเคียง เช่น จากพม่า และลาว
“การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นตัวทดแทนพลังไฟฟ้า รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน ยังเป็นการรักษาดุลยภาพสภาวะเรือนกระจกที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้”
อดีต รมว.พลังงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่เห็นความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน กลับไปพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67-70เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกับการกักเก็บสำรองก๊าซภายในประเทศ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้บริโภคที่มีจำนวนมาก ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยใช้เหตุ แถมยังทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการจะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ควรจะต้องพัฒนา แต่ก็ติดอยู่ที่ปัญหาประชาชนไม่ยอมรับ และรัฐบาลในปัจจุบันยังไม่มีความมั่นคง ฉะนั้น สภาพการณ์โดยรวมจึงทำให้โครงการพลังงานนิวเคลียร์ไม่มีทางเป็นไปได้
“การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องมีเวลาเตรียมการค่อนข้างนาน ทั้งในด้านกฎหมาย ระเบียบการดูแล การฝึกอบรมคน หากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็ไม่ควรเลือกพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานหมุนเวียน”
และแม้พลังงานหมุนเวียน จึงเป็นการอีกทางเลือกหนึ่งที่คนไทยทุกคน ควรจะรับไว้พิจารณาเพราะพลังงานหมุนเวียนมีค่าลงทุนที่ไม่ฟุ่มเฟือย รวมทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าคงที่ แต่ อดีตรมว.พลังงาน เห็นว่า พลังงานหมุนเวียนก็ไม่สามารถทดแทนพลังงานหลักจากกระทรวงทั้งหมดได้ เนื่องจากยังมีขีดจำกัดในการผลิตพลังงาน ดังนั้น หางเสือสำคัญยังคงอยู่ที่พลังงานไฟฟ้าหลักอยู่ดี
“ในขณะที่มีการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เราจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซนต์ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่จำกัด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตพลังงานได้แค่ช่วงเวลากลางวันเท่านั้น พลังงานหมุนเวียนจึงไม่สามารถทดแทนพลังงานหลักได้ แต่เป็นการผ่อนเบาภาระของการใช้พลังงานหลักเท่านั้น”
ดร. ปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า หนทางการพัฒนาการพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากหน่วยงานจากภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมถึงความเข้าใจต่อเรื่องพลังงานหมุนเวียนของภาคประชาชน
“เรายังมีความเข้าใจต่อพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ถูกต้อง เช่น ห่วงค่าไฟฟ้าจะสูงเกินควบคุม หรือพลังงานหมุนเวียนไม่อาจใช้งานได้จริง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องเริ่มส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ถึงความสำคัญและคุณค่าของพลังงานหมุนเวียน”