ปฏิรูปหลักสูตรใหม่ เน้นสร้าง “ทักษะ” ใช่หรือไม่ที่เด็กไทยต้องการ
การจัดการศึกษาของประเทศไทย “โรงเรียน” ตกอยู่ในสถานะเป็น “โรงสอน”
ใน 1 ปี เด็กไทยใช้เวลาเรียนรู้ในห้องเรียนสูงเป็นอันดับสองของโลก 1,000-1,200 ชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้เวลาเฉลี่ยการเรียน 600-800 ชั่วโมงต่อปี
สาเหตุของปัญหามุ่งตรงไปที่ “หลักสูตรการสอน” 8 กลุ่มสาระที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เน้นวิชาการมากเกินไป และเป็นหลักสูตรตอบสนองเฉพาะกลุ่มเด็กที่มุ่งเข้าสู่รั้วอุดมศึกษา
แต่ในความเป็นจริงมีเด็กส่วนใหญ่ของประเทศถึง 70% ที่ไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษาและต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาพื้นฐานไม่ควรตอบสนองเพียงแค่เด็กที่เข้าสู่อุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศ
“การปฏิรูปการศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศต้องนำไปสู่การทำงานและการมีงานทำ ไม่ใช่การไต่บันไดเพื่อเข้าอุดมศึกษา เพราะสถิติของผู้ที่ตกงานสูงสุดคือ ป.ตรี วุฒิการศึกษา จึงไม่ใช่หลักประกันของการมีงานทำ
ดังนั้น การศึกษาและการจัดหลักสูตรต้องเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำ และควรเป็นเสื้อสั่งตัดไม่ใช่เสื้อโหล โดยต้องคำนึงถึงกลุ่มเด็กและลูกค้าเป็นสำคัญ หากจัดหลักสูตรการสอนที่ยึดตารางเรียนแบบเข้า 8 โมง เลิก 4 โมงเย็นจะไปไม่รอด เพราะหลักสูตรนี้เป็นการรับจ้างเรียนหนังสือไม่เหมาะกับคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่ต้องออกมาหาเช้ากินค่ำ
รวมทั้งกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระบบได้ ซึ่งมีถึง 1.2 ล้านคน และควรเป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะการปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึงการส่งเสริมให้สถานประกอบการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยรัฐเปลี่ยนบทบาทจากคนจัดการศึกษาเป็นคนซื้อบริการ เพื่อให้เกิดการประกันการศึกษาที่มีคุณภาพ”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คนที่ 2 กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาและประชุมปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับองค์การยูเนสโก และคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร ที่โรงแรมเดอะสุโกศล เมื่อเร็วๆ นี้
ขณะที่ตัวแทนเสียงเด็กทั้งประเทศ อย่าง นายปฐมพงศ์ ประจวบลาภ เยาวชนเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร บอกว่า เขาอยากให้หลักสูตรการศึกษาไทย เน้นการคิดวิเคราะห์ แยกแยะได้ ส่วนเรื่องการท่องจำไม่มีได้จะดีมาก เพราะการศึกษาที่ดีจะต้องไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นการศึกษาที่ตอบสนองต่อบริบทของท้องถิ่น
"ทุกวันนี้ตารางสอนอัดแน่นมาก แล้วยังต้องเจอการบ้านอีก สิ่งที่เด็กต้องการในวันนี้ คือการจัดตารางคาบเรียนช่วงเช้าเน้นเนื้อหาสาระ วิชาการเต็มๆ ครึ่งวัน ส่วนช่วงบ่าย 1 ชั่วโมงแรก 5 วิชา จันทร์-ศุกร์ ควรเป็นกิจกรรม แนะแนว ลูกเสือ พละศึกษา สุขศึกษา ชมรม หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมฟุตบอล วงโยธวาทิต กิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กถนัด ที่ไม่วัดผลเป็นชั่วโมงเรียน"
แน่นอนว่า หากจัดหลักสูตรการเรียนได้แบบนี้ "ปฐมพงศ์" มั่นใจไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปีแน่นอน ทั้งนี้ อยากให้ผู้เรียนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบ รับกรรมโดยตรง ได้มีสิทธิ์มีเสียงมาร่วมออกแบบหลักสูตรด้วยตัวเด็กเองบ้าง เพราะเมื่อเด็กนำไปเรียนแล้วก็น่าจะชอบและตอบโจทย์การจัดการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างดีที่สุด
ด้านนายวีรยุทธ คงหนู อายุ 19 ปี นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จ.สตูล เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่เขาได้รับจากหลักสูตรการศึกษาทางเลือกของโรงเรียน ซึ่งช่วยฉุดดึงเขาขึ้นมาจากความด้อยโอกาสในอดีต เมื่ออายุ 13 ปี
วีรยุทธ เคยเป็นเด็กเกเร เขาอยู่กับยายซึ่งตามใจไม่ค่อยห้ามปราม จึงกลายเป็นเด็กติดเพื่อน ชอบโดดเรียนออกไปเที่ยวเตร่ จนในที่สุดเวลาเรียนไม่เพียงพอ ติดศูนย์ในบางวิชา เขาตัดสินใจออกจากโรงเรียน มาใช้ชีวิตมั่วสุมกับเพื่อนเป็นเวลา 2 ปี
จนในที่สุดก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาเป็นผู้เสพและค้ายาเสพติด
วีรยุทธถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในสถานพินิจนาน 11 เดือน โชคดีที่ระหว่างนั้นเขาได้ไปบำเพ็ญประโยชน์ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 และได้พบกับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งออกปากชวนเขาให้มาเข้าเรียนเมื่อออกจากสถานพินิจแล้ว เมื่อมาเข้าเรียน ทางโรงเรียนให้วีรยุทธเข้าศึกษาต่อในชั้น ม.2
วีรยุทธ บอกว่า เขามีโอกาสได้เรียนทั้งวิชาการ และวิชาชีพที่หลากหลาย ซึ่งทางโรงเรียนเปิดสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพเมื่อออกจากโรงเรียนไปแล้ว จนกระทั่งเขาพบว่า ทักษะอย่างหนึ่งที่เขาถนัดและทำได้ดี ก็คือ การชกมวย ซึ่งจะมีครูสอนและคอยดูแลการฝึกซ้อมเป็นประจำในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
เริ่มแรกเขาตามเพื่อนๆ ไปฝึกซ้อม จนเริ่มรู้สึกสนุก ร่างกายก็แข็งแรง พร้อมกับความชำนาญที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้วีรยุทธกลายเป็นแชมป์มวยของโรงเรียน และได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันจนได้ชัยชนะในระดับอำเภอและจังหวัดมาแล้ว
“นอกจากค่ายมวย ที่โรงเรียนยังสอนวิชาชีพอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ทำอาหาร ดนตรี นาฏศิลป์ วอลเลย์บอล ฟุตบอล แต่ผมสนใจชกมวยมากกว่า แต่วิชาการผมก็ยังสนใจ ไม่ได้รู้สึกเบื่ออะไร” วีรยุทธ บอก และเห็นว่า หลักสูตรที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 แตกต่างจากโรงเรียนเดิมมาก โดยเฉพาะการชกมวย ซึ่งช่วยให้เขาได้ฝึกวินัยในตัวเอง
“ถ้าเรียนที่อื่น พอเลิกเรียนไม่มีอะไรทำ ผมก็คงไปเที่ยวตามปกติ ยิ่งอยู่ที่บ้านกับยาย ยายก็ตามใจ ผมจะไปไหนแกก็ปล่อย แต่พอมาอยู่ที่นี่ เรียนเสร็จตอนเย็นก็มาซ้อมมวย ตอนหัวค่ำถ้าวันไหนมีการบ้านก็ทำการบ้าน ผมรู้สึกว่าตัวเองมีวินัยมากขึ้น อีกอย่างเราชกมวยก็มีรายได้เพิ่มด้วย บางทีได้ครั้งละสามสี่พัน ก็ฝากครูไว้เป็นค่าขนม ก็เลยคิดว่าอยากจะชกไปเรื่อยๆ เพราะมันก็มีรายได้ระหว่างเรียน”
มาฟัง 1 ในคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร คณะที่ 2 ซึ่งมี ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธาน ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล บอกถึงความตั้งใจของคณะกรรมการชุดนี้ว่า ประธานฯ ได้พยายามที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 6 เดือน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ขณะนี้ก็ถือว่าก้าวหน้าไปได้ระดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากเราได้มีการประชุม รับฟังความคิดเห็นกันค่อนข้างมาก อีกทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เสนอความคิดเห็นทางเว็บไซต์ สังคมออนไลน์ต่างๆ ควบคู่กันไป จากหลักสูตรเดิม 8 กลุ่มสาระ กรุ๊ปรวมเหลือเป็น 6 กลุ่มความรู้ คือ
1. ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture) 2. กลุ่มสาระเรียนรู้ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) 3. การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life) 4. ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication) 5. สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ 6. ภูมิภาคอาเซียนและโลก (Asean Region and World)
โดย 6 กลุ่มสาระวิชานี้ให้เรียนรู้ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี โดยจะมีกรรมการแต่ละกลุ่มเข้าไปดูว่าจะมีเนื้อหาอะไร และลงไปหาทีมอาจารย์ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านภาษา และด้านการดำรงชีวิต การหางานทำ เพราะในอนาคตเราจะเน้นว่า เด็กจะต้องรู้ว่าเขาจะทำงานอะไรในภายภาคหน้า เมื่อแตกความรู้ออกมาได้แล้ว ก็จะเห็นโครงสร้างค่อยๆ ชัดเจนขึ้น
แต่ประเด็นสำคัญเมื่อได้โครงสร้างหลักสูตรแล้ว ลำดับต่อมาต้องสร้างความเข้าใจกับครู ถึงวิธีการสอนและการประเมิน เพราะการวัดผลจะต้องไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันวัด จะต้องมีทางเลือกให้เด็กมากขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าจะประกาศในการใช้จริงให้ใช้ได้เร็วที่สุด เป็นปีหน้าได้ก็จะดี แต่อย่างไรก็ตามผลสำเร็จที่ออกมาจะต้องดีที่สุด โดยจะทำเป็นคู่มือของหลักสูตรออกมาด้วย
ห้าเดือนนับจากนี้ พิมพ์เขียวของหลักสูตรใหม่ ที่ทุกคนรอคอยคงไม่ทำให้เด็กไทยที่จะก้าวสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ผิดหวัง และจะเป็นของขวัญชิ้นที่งดงามที่สุด