เปิดชื่อแกนนำฝ่ายขบวนการฯร่วมวงพูดคุยรัฐไทย
ยังคงเป็นปริศนาและตรวจสอบกันวุ่นวายแม้แต่ในหน่วยงานความมั่นคงเอง เกี่ยวกับรายชื่อและประวัติของผู้แทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ไปร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนของรัฐบาลไทย เมื่อ 28 มี.ค.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ว่ากันว่าเที่ยวนี้ ซึ่งเป็นการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 (ครั้งแรกวันที่ 28 ก.พ.2556) มีทั้งตัวแทนจากขบวนการบีอาร์เอ็นและพูโล ไม่ใช่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวเหมือนครั้งแรก
อย่างไรก็ดี การพบปะกันรอบ 2 (แต่นับเป็นการริเริ่มกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการนัดแรก) แตกต่างจากเมื่อ 28 ก.พ. เพราะในครั้งนั้น หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการพูดคุยและลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้ไม่นาน ก็มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งฝั่งตัวแทนรัฐบาลไทย ฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งฝ่ายมาเลเซียผู้ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยที่ไปลงนามด้วย
แม้คนที่โพสต์ข้อมูลจะไม่ใช่ตัว พล.ท.ภราดร เอง แต่ข้อมูลก็ไปปรากฏอยู่บนหน้าแฟนเพจของเลขาธิการ สมช. โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ลบทิ้งหรือปฏิเสธข่าวแต่อย่างใด และรายชื่อบางส่วนก็ตรงกับข่าวที่เล็ดรอดออกมาก่อนหน้านั้น
เปิดชื่อคณะพูดคุยฝั่งบีอาร์เอ็น 28 ก.พ.
สำหรับรายชื่อผู้ที่พบปะพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย และร่วมลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ศูนย์ฝึกตำรวจ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ประกอบด้วย
1.นายฮัสซัน ตอยิบ (ในเอกสารใช้ นายฮาซัน ตอยิบ) หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศ ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
2.นายอาวัง ยาบะ ฝ่ายประสานงานขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต กับเจ้าหน้าที่มาเลเซีย
3.นายอับดุลเลาะห์ หัวหน้าอูลามา จ.นราธิวาส
4.นายอับดุลเราะห์มาน ยาบะ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
นอกจากนั้นยังมีแกนนำบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน คือ
1.นายมูฮัมหมัดฮัมดัน สะนิ หัวหน้าฝ่ายการเงิน
2.นางกลือซม บิน ดีอิสอัค หัวหน้าฝ่ายสตรี
6 บีอาร์เอ็น-พูโลจากวงพูดคุย 28 มี.ค.
ส่วนในการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 มี.ค.2556 ที่เซฟเฮาส์ของสันติบาลมาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์นั้น ผู้เข้าร่วมพูดคุยทางฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 6 คน ประกอบด้วย
1.นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนหลักคนเดิม โดยคราวนี้ พล.ท.ภราดร บอกว่า นายฮัสซัน ขอให้ใช้ชื่อขบวนการของพวกเขาว่า "บีอาร์เอ็น" เฉยๆ เพราะบีอาร์เอ็นทุกปีกรวมตัวกันแล้ว
2.อุสตาซมะ สุหลง หรือ อุสตาซมะ โฉลง อายุมากกว่า 60 ปี ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นชาว อ.กรงปินัง จ.ยะลา และเป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส (ฝ่ายทหาร) รุ่นเก่า
3.นายฟาเดล อาหามะ วัยใกล้เคียงกับอุสตาซมะ เป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส (ฝ่ายทหาร) เช่นกัน
4.นายอาบูลการีม ตอและ หรือ อับดุลรอนิง อายุราว 40 ปลายๆ ถึง 50 ปี เป็นสมาชิกระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็นในกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ยุคปัจจุบันด้วย ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นชาว ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
5.นายมะสุกรี (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปลายๆ เป็นลูกผู้นำศาสนาชื่อดังในพื้นที่ และเป็นหนึ่งใน 8 อุสตาซที่ถูกจับกุมในคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน และเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 (หนึ่งใน 8 คนคือ นายแวยูโซะ แวดือราแม อดีตครูฝ่ายปกครองโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ภายหลังเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่) แต่ต่อมามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปประกันตัวให้เมื่อ 9 ม.ค.2550 ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในแนวนโยบายที่รัฐบาลใช้ในการคลี่คลายเหตุรุนแรงในพื้นที่และลดความหวาดระแวง ทว่าภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนได้หลบหนีประกัน รวมทั้งนายมะสุกรีด้วย
6.ผู้แทนองค์การพูโล ซึ่งยังไม่ชัดว่าชื่อ นายรอซี ลุโบะโตะเบ็ง หรือไม่
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูง กล่าวว่า ชื่อของผู้ที่ร่วมวงพูดคุยสันติภาพส่วนใหญ่เป็นชื่อจัดตั้ง ไม่ใช่ชื่อจริง แต่ตรวจสอบประวัติแล้วเป็นตัวจริงที่ร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งสิ้น
"กลุ่มนี้ถือเป็นรุ่นใหญ่ เคยเป็นเยาวชนบีอาร์เอ็นในยุคที่เริ่มปลุกระดมใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน และปัจจุบันกลายเป็นแกนหลักขององค์กรนำ หรือ ดีพีพี (Dewan Pimpinan Parti) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของบีอาร์เอ็น จึงเชื่อว่ากลุ่มที่มาพูดคุยนี้เป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นจริงๆ และเชื่อมกับขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ขณะนี้ได้ เพราะมีบางคนที่มีความเชื่อมโยงชัดเจน" แหล่งข่าว ระบุ
เขายังแสดงความเชื่อมั่นว่า การพูดคุยเจรจาครั้งนี้จะนำไปสู่สันติภาพที่ปลายทางได้ เพราะเป็นการ "คุยถูกตัว" และเชื่อว่าแกนนำดังกล่าวสามารถประสานงานกับฝ่ายกองกำลังในพื้นที่ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และเหตุรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่รัฐเองก็ต้องควบคุมสถานการณ์ด้านอื่นให้ดีๆ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่หวังล้มโต๊ะเจรจา!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การพบปะกันระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ (คนที่ 2 จากขวา) เมื่อ 28 ก.พ.2556 (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)