ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. กู้หนี้ 2 ล้านล้าน
๔๘/๖๙ หมู่ ๖ ถนนเลียบคลองประปา
ต. บ้านใหม่ อ. ปากเกร็ด จ. นนทบุรี ๑๑๑๒๐
๓ เมษายน ๒๕๕๖
เรื่อง ขอกล่าวโทษนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เรียน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และนำเสนอรัฐสภาพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้มีการบรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๘ และ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๒๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ตามที่คณะรัฐมนตรีโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ข้าพเจ้าดังมีรายนามแนบท้ายหนังสือนี้ในฐานะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งทราบในหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นอย่างดี ขอกล่าวโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่า คณะรัฐมนตรีนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุที่กระทำการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ดังต่อไปนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญที่ให้อำนาจกระทรวง
การคลังกู้เงินจากแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่กำหนดในยุทธศาสตร์หรือแผนงานที่มีการกำหนดวงเงินที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวงเงินจำนวนสองล้านล้านบาท โดยมีเนื้อหาที่สำคัญที่เกี่ยวกับการกู้เงินและการจัดการเกี่ยวกับเงินกู้ในร่างมาตรา ๕ มาตรา ๖ ระบุว่า
“มาตรา ๕ ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์และแผนงาน และภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓”
“มาตรา ๖ เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา ๕ ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
กระทรวงการคลังอาจนำเงินที่ได้จากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อให้นำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศก็ได้ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น”
นอกจากนี้ ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้กำหนดหลักการในการให้มีการบริหารโครงการตามยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการอนุมัติการดำเนินโครงการและจัดสรรเงินกู้ให้เป็นงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้ในมาตรา ๑๔ อันมีลักษณะเป็นการกำหนดหลักการการใช้จ่ายเงินในลักษณะเช่นเดียวกับการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒
โดยสรุปของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ เมื่อกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวนสองล้านล้านบาทแล้ว ให้กระทรวงการคลังนำเงินไปใช้จ่ายได้ หรือจะไปให้กู้ต่อก็ได้ โดยไม่ต้องนำเงินส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกำหนดการบริหารเงินกู้ดังกล่าวนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมายวิธีการงบประมาณ อันเป็นการขัดต่อหลักการที่เกี่ยวกับการเงินการคลังและวินัยงบประมาณตามหมวด ๘ การการเงิน การคลัง และงบประมาณ มาตรา ๑๖๖- มาตรา ๑๗๐
๒. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖ และได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงินดังกล่าวว่าเป็นการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดินอย่างร้ายแรง และเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน กล่าวคือ
(๑) ในการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมาย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบางมาตราอาจกำหนดหลักการในการตรากฎหมายไว้เป็นการทั่วไป การบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่หากมีหลักการเช่นเดียวกับกฎหมายเดิมอยู่แล้วย่อมต้องถือว่ากฎหมายฉบับใหม่เป็นการยกเลิกกฎหมายเดิม เว้นแต่กรณีที่การตราหรือบัญญัติกฎหมายที่มีรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ย่อมต้องบัญญัติกฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อให้มีการบัญญัติกฎหมายได้ถูกต้องตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก็ไม่สามารถเห็นชอบหรืออนุมัติร่างกฎหมายหรือเสนอร่างกฎหมายที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้นได้
(๒) บทบัญญัติในหมวด ๘ การเงิน การคลัง และงบประมาณ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๖ – มาตรา ๑๗๐ ได้กำหนดให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นเงินประเภทใด จะเป็นที่ได้รับการจัดสรรเป็นงบประมาณ เงินกู้หรือเงินนอกงบประมาณ หรือเงินหรือทรัพย์สินของรัฐ ต้องใช้จ่ายตามมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น
“มาตรา ๑๖๙ การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่าวที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย
ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจโอน หรือนำรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดไปใช้ในรายการที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันที และให้รายงานรัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่มีการโอนหรือนำรายจ่ายตามงบประมาณที่กำหนดไว้ในรายการใดไปใช้ในรายการอื่นของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐบาลรายงานรัฐสภาเพื่อทราบทุกหกเดือน”
จากบทบัญญัติมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าการที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ต่อรัฐสภาโดยที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๑๖๙ ซึ่งเป็นบทบังคับการจ่ายเงินแผ่นดินนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายหรือกฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณซึ่งมีหลักการในการจัดทำและโอนงบประมาณตามมาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๗ และมาตรา ๑๖๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย หรือจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยวิธีการอื่นหรือการออกกฎหมายเฉพาะ
(๓) ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังนั้นต้องเป็นไปตามหลักการที่เมื่อปรากฏรายได้แผ่นดินไม่ว่าประเภทใด รวมทั้งเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังกู้ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือว่ากู้โดยมีเงื่อนไขประการใดก็ตาม ย่อมเป็นรายได้ของแผ่นดินและเป็นเงินแผ่นดิน ที่เมื่อกู้มาแล้วกฎหมายเงินคงคลังบัญญัติบังคับว่ารัฐบาลจะต้องนำเงินดังกล่าวเข้าฝากไว้ในบัญชีเงินคงคลัง บัญชีที่ ๑ ซึ่งฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น และจะนำไปใช้จ่ายได้เฉพาะการโอนเข้าบัญชีที่ ๒ และให้ใช้จ่ายในบัญชีที่ ๒ และยังมีบทบัญญัติอีกว่าการนำเงินคงคลังไปใช้จ่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายงบประมาณประจำปีหรือกฎหมายงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องจัดทำขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(๔) สำหรับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณนั้น มีบทบัญญัติโดยสรุปว่าหน่วยงานต้นสังกัดจะเป็นผู้ตั้งโครงการขอใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ เมื่อจัดทำแล้วต้องเสนอโดยลำดับชั้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งถึงสำนักงบประมาณ เพื่อรวบรวมและนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ จากนั้นสำนักงบประมาณก็จะต้องจัดทำเป็นร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี หรือร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็ตาม และเสนอร่างกฎหมายงบประมาณพร้อมด้วยรายละเอียดทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วก็จะเสนอต่อรัฐสภาตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติ จนกระทั่งนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับเป็นกฎหมาย โดยแต่ละขั้นตอนดังกล่าวผู้มีส่วนได้เสียหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบกำกับท้วงติงแก้ไขหรือยับยั้งได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๕) การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้บัญญัติหลักการและวิธีการในการใช้เงินแผ่นดินให้ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งยังต้องอยู่ภายใต้บังคับการกำกับตรวจสอบควบคุมตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ อย่างรอบคอบรัดกุมเช่นนี้ ก็เพราะมีเจตนารมณ์แน่วแน่เด่นชัดว่าเงินแผ่นดินเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ได้มาจากหยาดเหงื่อและแรงงานของประชาชน หรือเป็นภาระของประเทศชาติและประชาชนทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต การใช้จ่ายแผ่นดินต้องนำไปใช้สอยให้ถูกตรงกับความจำเป็น และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนทั้งปวง โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันมิให้มีการรั่วไหลหรือเปิดโอกาสให้มีการฉ้อฉลปล้นเงินแผ่นดินไปใช้ไม่ว่าโดยผู้มีอำนาจระดับใด ๆ ก็ตาม
(๖) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำหลักการใช้เงินที่ต้องอยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น ในภาวะสงครามหรือการรบหรือมีการโอนเงินงบประมาณจากหน่วยงานอื่นไปยังหน่วยงานที่มีความจำเป็น หรือในกรณีที่เป็นการจะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ การใช้จ่ายเงินแผ่นดินก็ต้องมีการตราพระราชกำหนดให้จ่ายเงินแผ่นดินได้ตามมาตรา ๑๖๙ ประกอบกับมาตรา ๑๘๔ – มาตรา ๑๘๖ เท่านั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐสภา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งโครงการหรือแผนงานหรือยุทธศาสตร์ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้เวลาในการดำเนินการตามปกติและมีผลผูกพันการใช้เงินดังกล่าวหลายปี จึงไม่มีเหตุผลในการตรากฎหมายเพื่อให้ใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้โดยไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
ดังนั้นการกระทำของคณะรัฐมนตรีที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๙ ที่เป็นบทบัญญัติคุ้มครองป้องกันเงินแผ่นดินมิให้ถูกฉ้อฉลฉ้อโกงโดยผู้มีอำนาจต่าง ๆ จึงเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นเรื่องร้ายแรงของประเทศชาติและประชาชน ทั้งจะต้องถือว่าผู้ใดก็ตามที่จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวคือ เป็นผู้มีเถยจิตคิดชั่วหมายฉ้อฉลปล้นเงินแผ่นดินโดยผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง
๓. คณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ได้เข้าร่วมประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ย่อมทราบหรือต้องถือว่าทราบแล้วว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๙ บัญญัติห้ามมิให้นำเงินแผ่นดินไปใช้จ่ายโดยวิธีการอย่างอื่น นอกจากที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายโอนเงินงบประมาณ และกฎหมายเงินคงคลัง แต่คณะบุคคลดังกล่าวได้สมคบกันโดยเจตนาลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งให้นำเงินกู้จำนวนสองล้านล้านบาทไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ซึ่งหมายความว่าให้นำไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องทำเป็นกฎหมายงบประมาณ ไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้สมคบกันลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ยังได้สมคบกันใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบและผิดกฎหมายกระทำความผิดต่อไป โดยได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดึงดันจะให้ตราเป็นกฎหมายใช้บังคับ เพื่อจะนำเงินกู้จำนวนสองล้านล้านบาทอันเป็นเงินแผ่นดินไปใช้จ่ายโดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับการลงมติ
๔. ตามประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติของแผ่นดินที่มีมาแต่ก่อนนับตั้งแต่ราชอาณาจักรไทยมีระบบกฎหมายใช้บังคับ การจะใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่ว่าเท่าใดก็ตาม หน่วยงานของรัฐจะใช้จ่ายงบประมาณ ก็ต้องตั้งโครงการที่มีรายละเอียดอย่างชัดเจน จำแนกเป็นรายการต่างๆ และราคาแต่ละรายการต่าง ๆ จนได้เป็นราคารวม เพื่อนำไปรับการจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณผูกพันข้ามปีงบประมาณ
แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กลับสมคบกันเห็นชอบและเสนอร่างกฎหมายที่จะก่อภาระหนี้ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นจำนวนมากมายถึงสองล้านล้านบาท และเป็นภาระประเทศชาติและประชาชนในการชำระหนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี ซึ่งเป็นวงเงินกู้และระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ที่มากที่สุดและยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ชนเผ่าไทยได้ตั้งประเทศชาติเป็นต้นมาถึงปัจจุบันนี้ แต่กลับไม่มีการทำโครงการหรือรายละเอียดใด ๆ เลย มีแต่สิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์และแผนงานเพียงสองหน้ากระดาษเท่านั้น โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ในความสำเร็จของโครงการ เป็นการกระทำความผิดที่ใจดำอำมหิตต่อประเทศชาติและประชาชน
ดังนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น จึงมีความผิดตามกฎหมายในทางอาญาที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะดำเนินการพิจารณาดำเนินการไต่สวนและส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาต่อไป
และเนื่องจากการพิจารณาในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวงเงินกู้จำนวนสองล้านล้านบาทซึ่งสร้างภาระหนี้สินของชาติเป็นจำนวนมากมายมหาศาล จึงเป็นการเร่งด่วนและเป็นเรื่องใหญ่ของแผ่นดิน ที่หากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปจนกระทั่งตราเป็นกฎหมายได้สำเร็จก็จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน
ดังนั้นเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งประโยชน์แผ่นดินและประชาชน จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาและวินิจฉัยเป็นการด่วน และหากเป็นไปได้โปรดขออำนาจศาลที่เกี่ยวข้องเพื่อมีคำสั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งคณะ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ระงับการดำเนินการทั้งปวงไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีคำวินิจฉัยหรือจนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะได้มีคำพิพากษา
ด้วยเหตุผลดังกราบเรียนมา จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสืบสวนสอบสวนและทำการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และเสนอเรื่องไปยังเพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษสถานหนักตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเสนอต่อศาลเพื่อให้ใช้มาตรการชั่วคราวตามสมควรและจำเป็นเพื่อหยุดการกระทำความผิดต่อไป อันจะเป็นการป้องกันผลอันจะเกิดจากการกระทำความผิดด้วย
ขอแสดงความนับถือ
นายมานิจ สุขสมจิตร นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นายกฤษดา ให้วัฒนานุกูล นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร นายคมสัน โพธิ์คง
ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ นายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์ นางพรรณราย แสงวิเชียร
นายสมเกียรติ รอดเจริญ นายสมยศ สมวิวัฒน์ชัย นายสุนทร จันทรังสี