‘ศ.ระพี สาคริก’ รับโล่เมธีวิจัยธ.ก.ส. เตือนเกษตรกรไทยตื่นตัวพัฒนารับเออีซี
‘ศ.ระพี สาคริก’ ผู้บุกเบิกวิจัยเกษตรไทยรับ 'โล่เมธีวิจัยธ.ก.ส.' เตือนเกษตรกรต้องตื่นตัวงานวิจัย รัฐต้องพัฒนาจากฐานราก
วันที่ 3 เม.ย. 56 ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดประชุม ‘ยุทธศาสตร์วิจัยเกษตรไทย...ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง’ พร้อมมอบรางวัลเมธีวิจัย ธ.ก.ส. แก่ศ.ระพี สาคริก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้บุกเบิกงานด้านวิจัยเกษตรลำดับต้น ๆ ของไทยจนประสบความสำเร็จ
ศ.ระพี กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรไทยยังขาดการพัฒนาจากฐานราก ประกอบกับพลังขับเคลื่อนของคนเกษตรแทบไม่ค่อยมี ทำให้ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือประเทศอื่นมีการพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตรรุกหน้าไทยมาก เพราะคนไทยหลับ ไม่ตื่น ทั้งที่หลักธรรมบอกว่าให้ตื่นอยู่เสมอ จะเห็นว่าตนอายุ 91 ปีแล้ว แต่ยังทำงานตลอดเวลา
ส่วนภาครัฐจะส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเกษตรอย่างไรนั้น ฐานรากจะต้องมาจากประชาชน หากประชาชนไม่ขับเคลื่อน ภาครัฐผู้มีส่วนในการสนับสนุนก็อาจหักลงมาได้ นอกจากนี้การปรับตัวของภาคเกษตรไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เกษตรกรต้องได้รับความทุกข์ก่อน แล้วความทุกข์นั้นก็จะนำไปสู่ความสุข จึงจะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ถือว่าความทุกข์เป็นครูที่สอนให้เราอดทน
นายยรรยง พวงราช ประธานอนุกรรมการศูนย์วิจัยธ.ก.ส. กล่าวว่า เกษตรกรรมถือเป็นภาคเศรษฐกิจพื้นฐานในโลกยุคปัจจุบัน โดยไทยมีการขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เข้มแข็งด้วยการพัฒนางานวิจัยวิถีทางและเครื่องมือที่สำคัญ เพื่อเกื้อหนุนในการพัฒนาด้านอื่นต่อไป ซึ่งศูนย์วิจัยธ.ก.ส.ได้ดำเนินงานด้านวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแวดล้อม ประกอบกับไทยเตรียมเข้าสู่เออีซีจึงเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นผู้นำด้านงานวิจัยเกษตรได้ หากมีการสร้างเครือข่ายนักวิจัยเกษตรอย่างจริงจัง
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า เมื่อไทยเข้าสู่เออีซี ‘ข้าว’ จะเป็นผลิตผลที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไทย แต่คุณภาพกลับใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยด้านผลิต โดยเน้นการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น ภายใต้วิถีการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้การประชุมฯ ยังมีการนำเสนองานวิจัย ‘การเงินภาคชนบท’ โดยคณะทำงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า สถานการณ์การเงินชนบทไทยขณะนี้ ร้อยละ 31 ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 69 ประกอบอาชีพอื่น ๆ (รับจ้าง รับราชการ ค้าขาย) โดยรายได้ครัวเรือนต่ำสุดอยู่ที่ 201,773 บาท/ปี สูงสุด 406,140 บาท/ปี ซึ่งหากเทียบอัตราส่วนรายรับครัวเรือน 100 บาท กลุ่มคนจนไม่มีเงินออมอยู่เลย โดย -30 ส่วนคนรวยกลับมีเงินออมสูงถึง +34 โดยสรุปค่าเฉลี่ยเงินออมภาคชนบทไทยลดลงเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดจาก 13% เหลือเพียง 7% ในปัจจุบัน ยังไม่นับรวมว่าคนชนบทส่วนใหญ่จะมีหนี้สินสะสมทั้งในและนอกระบบรวม 63% ยอดหนี้เฉลี่ยครัวเรือน 176,825 บาท
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ยังเป็นตัวเลือกสำหรับคนชนบทในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและให้ความช่วยเหลือด้านลดความเสี่ยงด้านเกษตรกรรมมากที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารและแหล่งเงินทุนประเภทอื่น
ทั้งนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอแนะให้ธ.ก.ส.เร่งส่งเสริมให้มีการขยายบทบาทสถาบันการเงินชุมชน และร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่อการพัฒนาศักยภาพองค์กรและฐานการเงินชนบท ที่สำคัญไม่ควรดำเนินการจัดทำตลาดให้กับสินค้าที่สถาบันการเงินชุมชนที่ธ.ก.ส.เคยรับผิดชอบผลิต ในลักษณะที่บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้เริ่มดำเนินการแล้วผ่านบริการค้าปลีก
รวมถึงปี 58 เมื่อไทยเข้าสู่เออีซี ธ.ก.ส.ควรมีนโยบายเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ในรูปแบบธนาคารพาณิชย์จำกัดของเขตธุรกิจ โดยผู้ให้บริการดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น ต่างชาติ หรือเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นกับต่างชาติ อีกทั้งควรเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิก ผ่านการเชื่อมโยงตู้เอทีเอ็มในอาเซียนเข้าด้วยกัน และสร้างความสมดุลระหว่างการบริหารจัดการตลาดรายย่อยในชนบทกับเมืองใหญ่ โดยใช้เมืองหน้าด่านต่าง ๆ ของไทย เช่น หนองคาย สะเดา ระนอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่ 1.ธ.ก.ส.จังหวัดลำพูน ‘การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตลำไยของเกษตรกรลูกค้าธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ลำพูน ปีการผลิต 2554/55 2.ธ.ก.ส.จังหวัดพิษณุโลก ‘ความสามารถทางการแข่งขันของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ภายใต้เออีซี:กรณีศึกษาพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจ.พิษณุโลก 3.ธ.ก.ส.จังหวัดขอนแก่น ‘การศึกษาระบบและรูปแบบการพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนในจ.ขอนแก่น 4. ธ.ก.ส.จังหวัดสุรินทร์ ‘โอกาสในการสร้างธุรกิจสินเชื่อ:กรณีศึกษากลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมลายยกดอก บ้านดู่นาหนองไผ่ 5.ธ.ก.ส.จังหวัดสิงห์บุรี ‘ห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของข้าวในจ.สิงห์บุรีและความต้องการสินเชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
6.ธ.ก.ส.จังหวัดนครนายก ‘ การจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของข้าวหอมมะลิซ้อมมือ :กรณีศึกษาชุมชนบ้านบุหย่อง หมู่ที่ 7 ต.เขาพระ อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก 7.ธ.ก.ส. จังหวัดราชบุรี ‘การศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อและปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการเลือกซื้อนมข้นหวานของผู้ประกอบการร้านกาแฟ 8.ทีมวิจัยฝ่ายกิจการสาขาภาคใต้ตอนบน ‘ธนาคารต้นไม้ : กรณีศึกษาธนาคารต้นไม้บ้านประสานมิตหมู่ที่ 18 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร’ 9.ธ.ก.ส. จังหวัดปัตตานี ‘ศักยภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางผู้ผลิตยางก้อนถ้วย กลุ่มแม่บ้านตะโละตือรามัน ต.ดะโละคือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และ10. ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้แก่ นางสาววิมลรัตน์ จิตรดา ‘การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนทางการเงินของการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน’.