ชำแหละ 4ร่างประกันสังคม-เฉาะโครงสร้าง สปส. ‘ทำไมฉบับ ปชช.ถูกตีตกสภาฯ’
สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างกฏหมายประกันสังคม 2 ฉบับจาก 4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ‘ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอ’ มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ กระทบอย่างไรกับแรงงานนอกระบบกว่า 10 ล้านคน
โดย 2 ฉบับที่ผ่านการเห็นชอบ ได้แก่ ร่างฉบับรัฐบาล และฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ร่างฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และร่างฉบับที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถูกตีตกคือสภาฯไม่รับหลักการและไม่นำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการด้วย
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปเจาะรายละเอียดและพบนัยยะสำคัญที่แตกต่างกันหลายประการของร่างกฎหมายหมายประกันสังคมแต่ละฉบับ
เริ่มจากร่างฉบับประชาชนหรือที่เรียกกันว่า ‘ฉบับบูรณาการแรงงาน’ ซึ่งมีรากฐานมาจากกลุ่มเครือข่ายแรงงานที่พยายามผลักดันการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ต้อง ‘กองทุนประกันสังคมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท’ และต้องดูแล ‘ผู้ประกันตนในระบบกว่า 10 ล้านคน’
โดยมองว่ามีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างองค์กรที่ยังทำงานแบบราชการ มีสถานะเพียงหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน และยังมีข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสถูกครอบงำจากการเมือง เพราะแม้คณะกรรมการ สปส.จะมีโครงสร้างเป็นระบบไตรภาคีคือมีทั้งตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้างร่วมกันบริหาร แต่ในทางปฏิบัติตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างจะมาจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง ทำให้ได้คนกลุ่มเดิมๆ ที่ผ่านมามีข้อครหาหลายครั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆที่ขาดการมีส่วนร่วมและขาดการตรวจสอบจากลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินตัวจริง
ร่างกฎหมายฉบับบูรณาการแรงงานจึงถูกออกแบบมาให้เปลี่ยน สปส.ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง โดยกำหนดให้มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกำหนดที่มาคณะกรรมการ สปส. จากเดิม 3 ฝ่ายเป็น 4 ฝ่ายๆละ 8 คน คือตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ กฎหมาย การลงทุน เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ และบังคับให้ยื่นบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ส่วนที่มากรรมการให้มีตัวแทนภาครัฐจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆเป็นกรรมการโดย ตำแหน่ง ส่วนตัวแทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างนั้นเปลี่ยนจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านตัวแทนสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตนและนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส. ฝ่ายกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการสรรหาโดยตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดที่มาของเลขาธิการ สปส.ซึ่งปัจจุบันเป็นข้าราชการเทียบเท่าอธิบดีและมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปลี่ยนเป็นมาจากการสรรหามีสัญญาจ้าง 4 ปี เพื่อให้เงินกองทุนกว่า 8 แสนล้านมีการบริหารอย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ตามโครงสร้างเดิมของ สปส.ที่มีคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งร่างใหม่ฉบับประชาชนยังเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการการลงทุนเพื่อเป็นหลักประกันการจัดสรรผลประโยชน์เงินลงทุน และให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใสด้วย
ส่วนร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายจากเครือข่ายแรงงาน โดยออกแบบโครงสร้างให้สปส.เป็น “หน่วยงานของรัฐ” ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
ส่วนคณะกรรมการสปส.ให้มี 4 ฝ่าย คือตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 8 คน ให้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและต้องยื่นแสดง บัญชีหนี้สินและทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และเลขาธิการสปส.ให้มาจากการสรรหา รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการการลงทุน
มาอีกฟาก คือ 2 ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการนั้น ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม โดยยังคงให้เป็นระบบไตรภาคีสังกัดกระทรวงแรงงาน มีตัวแทนฝ่ายละ 7 คน ดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี แต่ที่มากรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ให้ลงสมัครได้โดยอิสระ และให้ยื่นบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. แต่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากนายจ้างและลูกจ้างทุกภูมิภาค การเป็นชายหญิง และการจัดเลือกตั้งโดยประหยัด หากมีกรณีที่ต้องมีข้อวินิจฉัย ให้คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานถือเป็นที่สุด
ทั้งนี้ประกันสังคมฉบับนายเรวัต ที่สภาฯรับหลักการ ไม่มีมาตราใดเปลี่ยนแปลงรายละเอียด คุณสมบัติ และที่มาของเลขาธิการสปส. แต่กลับเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่สำนักงานให้ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพย์สินต่างๆทั้งในและนอกราชอาณาจักร ซึ่งหมายถึงการเพิ่มสิทธิให้ สปส.ครอบครองถือสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ได้ จากปัจจุบันที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่ดินทั้ง หมดจะกลายเป็นที่ดินราชพัสดุแทน
มาถึงร่างกฏหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาล ยังคงระบบไตรภาคีมีการระบุให้ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง-นายจ้างมาจากการเลือกตั้ง โดยหลักเกณฑ์วิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งหมายความว่าที่มายังคงเดิม ที่ต่างออกไปคือเพิ่มจำนวนกรรมการจากฝ่ายละ 5 เป็น 6 คนเท่านั้นเอง โครงสร้างสำนักงานสปส.ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังพิ่มเติมบางมาตราเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เช่น กำหนดให้กองทุนประกันสังคมต้องมีระบบบัญชีที่เป็นสากล เพิ่มสิทธิการถือครองอสังหาริมทรัพย์ โดยระบุว่า “บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้สำนักงานเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์”
เมื่อพิจารณาการจัดวางอำนาจของคณะกรรมการ สปส.ของร่างกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว เห็นชัดว่าฉบับของเครือข่ายแรงงานที่เข้าชื่อโดยประชาชน 14,264 คน และฉบับนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ 360 องศา ดึงทั้งอำนาจและเม็ดเงินออกจากกลุ่มผลประโยชน์เดิม ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และสภาองค์การนายจ้าง-ลูกจ้าง แบบเดียวกับการจัดตั้งองค์กรตระกูล ส. ที่ดึงอำนาจและเม็ดเงินออกจากกระทรวงสาธารณสุขในอดีต เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จึงไม่น่าแปลกใจหากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเต็มไปด้วยกลไกฝ่ายการเมืองจะตีตกร่างกฏหมายประกันสังคมทั้ง 2 ฉบับตั้งแต่วาระรับหลักการ เหลือเพียงร่างฉบับนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการจัดวางอำนาจได้ประณีประนอมกับโครงสร้างเดิมอยู่บ้าง ยิ่งฉบับรัฐบาลก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะเปลี่ยนแปลงแต่รายละเอียด เช่น สิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการ แต่ไม่รื้อโครงสร้างอำนาจเดิมเลย
วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่เป็นผู้นำในการเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชน กล่าวว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่มีเงินมาก ภาคประชาชนจึงต้องการให้มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ มีคณะกรรมการตรวจสอบ มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนอย่างแท้จริง แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับปฏิเสธที่จะรับหลักการร่างกฎหมายของประชาชนที่ต้องการปฏิรูประบบประกันสังคม
เช่นเดียวกับชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. แสดงความเห็นว่าสาเหตุน่าจะเป็นเพราะฉบับของแรงงานมีเรื่องของการให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบการบริหารกองทุนประกันสังคม และที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จ้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อนำเงิน ประกันสังคมไปใช้สนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งแม้จะหาวิธีการใช้เงินที่ไม่ผิดระเบียบ แต่หลายครั้งก็มีข่าวที่ทำให้เห็นว่านำเงินไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์และไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน
ทั้ง นี้เมื่อพิจารณารายละเอียดส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างอำนาจแล้ว เรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ร่างกฎหมายแต่ละฉบับก็มีความแตกต่างกันด้วย แม้ว่าทุกฉบับมีส่วนที่เหมือนกันคือให้กฎหมายมีผลครอบคลุมไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ แต่ฉบับแรงงานขยายไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้านและลูกจ้างทำงานบ้านด้วย ส่วนของนายเรวัติขยายไปถึงลูกจ้างชั่วคราวของรัฐวิสาหกิจ แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานต่างด้าวที่ต้องการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
กรณีสิทธิประโยชน์และเงินสมทบนั้น ร่างกฎหมายฉบับบูรณาการแรงงานได้ขยายสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีการขาดรายได้ จากเดิม “ให้นำค่าจ้าง 3 เดือนแรกของค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งย้อนหลัง 9 เดือน หารด้วย 90” มาเป็น “ให้คำนวณโดยนำค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบสูงสุด 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ มารวมกันแล้วหารด้วย 90” ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลให้ใช้สิทธิได้ทันทีนับตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง จากเดิมที่ต้องเป็นผู้ประกันตนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเข้าสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเข้าเฉพาะโรงพยาบาลที่เลือกไว้
นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลต้องร่วมจ่ายเงินสมทบแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มขึ้น โดยระบุว่าต้องจ่ายไม่น้อยกว่าที่ผู้ประกันตนจ่าย จากเดิมที่เขียนว่าจ่ายไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนจ่าย
ส่วนฉบับนายเรวัติที่สภาฯรับหลักการ ขยายเวลาขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปีเป็น 2 ปี, ใช้เกณฑ์คำนวณประโยชน์เงินทดแทนกรณีขาดรายได้แบบเดียวกับร่างฉบับแรงงาน แต่เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ตามเวลาการจ่ายเงินสมทบ คือ ได้ 50% ของค่าจ้างเมื่อจ่ายสมทบครบ 3 เดือน 60% ของค่าจ้างเมื่อจ่ายสมทบแล้ว 60 เดือน และ 70% ของค่าจ้างเมื่อจ่ายสมทบครบ 120 เดือน รวมทั้งเพิ่มเติมสิทธิการรักษาพยาบาลจากเดิมที่รักษาได้อย่างเดียวให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนกรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 กำหนดให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบเท่ากับที่ผู้ประกันตนจ่ายสำหรับสิทธิ ประโยชน์กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพและตาย ส่วนการจ่ายสมทบสำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆให้เป็นไปมติคณะรัฐมนตรี
และสุดท้ายร่างฉบับรัฐบาลที่สภาฯรับหลักการ เปิดช่องให้ สปส.ลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติได้คราวละไม่เกิน 6 เดือน จากเดิมที่แม้จะมีภัยพิบัติเพียงจังหวัดเดียว แต่หากจะลดหย่อนเงินสมทบก็ต้องลดให้ทั้งประเทศ, เพิ่มระยะเวลาขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปีเป็น 2 ปี, ใช้เกณฑ์คำนวณค่าจ้างเพื่อจ่ายประโยชน์ชดเชยการขาดรายได้แบบเดียวกับฉบับแรงงาน, เพิ่มการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเข้าไปในสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล และในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 ร่างฉบับรัฐบาลยังกำหนดสัดส่วนให้รัฐร่วมจ่ายสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินที่ผู้ประกันตนจ่าย
…………………………………
และนี่เองเป็นที่มาของกระแสภาคประชาชน เครือข่ายแรงงาน รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหรือ คปก.ออกมาคัดค้าน ตั้งแต่วันที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 21 มี.ค.56 ที่ผ่านมา ‘ตีตกร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน’ จนถึงวันนี้เสียงค้านและคำครหาก็ยังไม่สร่างซาลง