คนเกาะสมุยชวนลงประชามติค้าน “ขุดเจาะน้ำมัน”ทำลายฐานทรัพยากร-อาชีพท้องถิ่น
เครือข่ายพิทักษ์เกาะแห่งชีวิต ทำจดหมายเปิดผนึกชวนลงประชามติค้านขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะสมุย-พะงัน –เต่า-หมู่เกาะอ่างทอง ระบุทำลายความมั่นคงอาหาร-ห่วงโซ่อาชีพท้องถิ่น
วันที่ 2 เม.ย.56 เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิตฯ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “เชิญร่วมแสดงประชามติหยุดขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง”
ใจความว่าขอเชิญนักวิชาการ นักวิจัย นักอนุรักษ์ อาจารย์ ผู้นำทางปัญญา กรรมการผู้จัดการ/เจ้าของ/ผู้ จัดการ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการบันเทิง บ.ทัวร์ท่องเที่ยว สปา ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ร้านค้าทั่วไป และประชาชนทั่วไปที่รักความเป็นธรรม ร่วมแสดงประชามติหยุดขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ในเดือนเมษายน 2556 นี้
โดยระบุว่าชาวเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้ร่วมกันคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณโดยรอบเกาะทั้ง 3 มาเป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากตระหนักดีว่าอาณาบริเวณโดยรอบเกาะทั้ง 3 และหมู่เกาะอ่างทอง เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์และสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000–30,000 ล้านบาท ซึ่งกระจายรายได้สู่ชุมชนและห่วงโซ่อาชีพต่างๆมากมาย ทั้งอุตสาหกรรมและประมง และยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดและอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญหลายชนิดในอ่าวไทย เช่น ปลาทู
การคัดค้านดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลาง (คดีดำหมายเลขที่ 1785/2553) เพื่อให้มีการระงับยับยั้งโครงการดังกล่าว ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองnผลจากการร่วมกันคัดค้านทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานยังไม่สามารถขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่อันตรายต่อเกาะทั้ง 3 ได้ โดยเฉพาะในแปลงของบริษัทนิวคอสตอล (CEC ในปัจจุบัน) ระยะหลุมห่าง 40 กม.จากเกาะสมุย และแปลงของบริษัทซาลามานเดอร์
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ กลุ่มดังกล่าวยังได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี “ขอให้ยุติการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอาณาบริเวณโดยรอบ เกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง โดยระบุว่าตามที่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าในเดือนเมษายน 2556 นี้ บริษัทผู้รับสัมปทานการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 3 แปลงสัมปทานมีแผนที่จะขุดสำรวจจริง คือ (1.) แปลง G4/50 ของ บ.ซาลามานเดอร์ (หลุมเจาะห่าง36.7 กม. จากเกาะพะงัน) (2.) แปลง G5/50 ของ บ.CEC (หลุมเจาะห่าง 40 กม.จากเกาะสมุย) และ (3.) แปลง B6/27 ของ บ.ปตท.สผ. เขตสัมปทานอยู่ทางตะวันออกของหมู่เกาะอ่างทองโดยประมาณ 30-40 กม. ห่างเกาะเต่าทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตรเศษ
ทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวมีแผนงานที่จะขุดเจาะสำรวจจริง (โดยแท่นขุดเจาะ) ในอาณาบริเวณโดยรอบ และไม่ห่างจาก เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และวนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อาณาบริเวณดังกล่าว มีความอุดมสมบูรณ์ ทางทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญเชื่อมโยงกับการประกอบสัมมาชีพของพี่น้องประชาชนจำนวนนับแสน คน ที่ยึดโยงอยู่กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการประมง การปล่อยให้พื้นที่ดังกล่าวถูกพัฒนาไปเพื่อการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีอายุการสัมปทานนานกว่า 30 – 50 ปี กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุสัมปทาน เช่น การเพิ่มหลุมสำรวจ การเพิ่มแท่นผลิต การขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
จะทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลงอย่างสิ้นเชิง แม้มิเกิดการรั่วไหล อีกทั้งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิด และอนุบาลสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนที่สำคัญหลายชนิด เช่นปลาทู ก็จะถูกปนเปื้อนจากสารโลหะหนักหลายชนิด และเกิดการรบกวนขัดขวางวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลและเศรษฐกิจ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในสมดุลธรรมชาติ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความมั่นคงทางอาหารของชาติในที่สุด
เครือข่ายฯ ในฐานะผู้ประกอบสัมมาชีพอยู่ในเกาะทั้งสามและประชาชนคนไทยทั่วไป อาศัยสิทธิพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตให้มีโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในบริเวณดังกล่าว โดยมีข้อเสนอเพื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการดังนี้
1.) ขอให้ดำเนินการยุติกิจกรรมการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่รอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง โดยทันที ทั้งนี้จนกว่าจะได้บรรลุข้อตกลงที่ท้องถิ่นและประเทศชาติจะได้รับประโยชน์ โดยรวมอย่างยั่งยืนกว่า 2.) ขอให้รัฐทบทวนโครงการอื่นๆ ในอาณาบริเวณที่อาจส่งผลกระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล อ่าวไทย เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และการเป็นแหล่งอาหารของประเทศ 3.) ขอให้มีการทบทวน กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะจากกิจการปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง 4.) ขอให้รัฐบาลทบทวนแก้ไขปรับปรุง เงื่อนไข วิธีการ และการแบ่งรายได้ผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจการนี้ .