"ทหารเหยื่อบึ้ม-ตร.ประทวน" กับเสียงครวญ... ทำไมยิ่งเจรจาใต้ยิ่งป่วน
แม้กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้แทนกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ทว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังไม่ดีขึ้น
ห้วงเวลาเพียง 4 วันก่อนและหลังวันนัดพูดคุยสันติภาพ คือตั้งแต่วันพุธที่ 27 มี.ค.ถึงวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.2556 มีเหตุรุนแรงโดยเฉพาะระเบิดที่สร้างความสูญเสียเกิดขึ้นทุกวัน โดยในวันที่ 27 มี.ค.เกิดเหตุระเบิดที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ทำให้อาสารักษาดินแดน (อส.) ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค.ซึ่งเป็นวันพูดคุยสันติภาพ มีเหตุระเบิดและยิงปะทะที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้มีทหารพรานเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 5 นาย ถัดมาวันที่ 29 มี.ค.เกิดเหตุระเบิดและยิงปะทะที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้ทหารระดับ ผบ.ร้อย เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 14 นาย และวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.เกิดเหตุระเบิดที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ทำให้ทหารพรานเสียชีวิตไปอีก 2 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
รวม 4 วันสูญเสียกำลังพลไปถึง 6 นาย บาดเจ็บอีก 28 นาย!
แม้จะมีคำอธิบายจากคณะผู้แทนพูดคุยสันติภาพและกลุ่มผู้สนับสนุนว่า เป็นสถานการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ระหว่างดำเนินกระบวนการสันติภาพ เพราะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจเลือกใช้วิธีการก่อเหตุรุนแรงเพื่อส่งสัญญาณต่อต้านกระบวนการพูดคุย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงดังกล่าวที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและลดทอนความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่...
ทหารเหยื่อบึ้มครวญ...ยิ่งเจรจาใต้ยิ่งป่วน
กำลังพลของทหารนายหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดในช่วงของการพูดคุยสันติภาพ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพเกิดขึ้น แต่แนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบก็ยังก่อเหตุรุนแรงรายวัน จึงเชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้น่าจะหาข้อยุติได้ยาก ประกอบกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปีแล้ว คงแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ
กำลังพลอีกนายหนึ่ง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อเช่นกัน) ซึ่งยังคงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด กล่าวว่า ดูเหมือนยิ่งพูดคุยเจรจาก็ยิ่งเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้น ช่วงนี้ทหารถูกโจมตีทุกวัน และเมื่อย้อนดูสถิติการก่อเหตุจะพบว่าในปี 2556 มีการก่อเหตุรุนแรงมากกว่าปี 2555 เสียอีก โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาส มีการก่อเหตุรุนแรงมากที่สุด
อุดมการณ์แยกดินแดนลงลึกถึงรากหญ้า
เจ้าหน้าที่ตำรวจยศ "สิบตำรวจเอก" นายหนึ่งที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพจะยุติปัญหาความรุนแรงได้ เพราะขณะนี้อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้แพร่กระจายและลงลึกถึงระดับชุมชนหมู่บ้านแล้ว เยาวชนส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยได้รับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนไปเรียบร้อย จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดความเชื่อหรือสร้างความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพ
"สิ่งสำคัญตอนนี้คือแนวรวมที่อยู่ในพื้นที่เรียกได้ว่าไม่มีหัว (หมายถึงไม่มีหัวหน้า) ขบวนการเขาตัดตอนเก่งมาก กลุ่มนักรบอาร์เคเคชุดหนึ่งมี 6 คน เขาก็จะรู้จักกันเพียง 6 คนนี้เท่านั้น ชุดอื่นไม่รู้จักกันเลย หากวันไหน เดือนไหนจะก่อเหตุพร้อมๆ กันก็จะมีคนถือสารมาบอก นี่คือจุดแข็งของพวกขบวนการ และพวกเขาถือเป็นเซลล์อิสระ จะก่อเหตุที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ การรบกับคนที่มีอุดมการณ์มันรบยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นในอิรัก หรืออัฟกานิสถาน รบกันมากี่ปีแล้ว ถามว่าตอนนี้สงบหรือยัง"
เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ บอกว่า การตัดตอนของขบวนการ และการทำงานแบบเซลล์อิสระ ทำให้การพูดคุยหรือเจรจากับคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่อาจหยุดความรุนแรงในภาพรวมได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นคนที่รัฐไปพูดคุยด้วยก็แทบไม่มีใครในพื้นที่รู้จัก สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากโครงสร้างของขบวนการที่ตัดตอนในตัวเองนั่นเอง
"เมื่อเกิดสภาพที่ว่าไม่รู้ว่ารัฐไปพูดคุยกับใคร ทำให้แนวร่วมในพื้นที่ไม่ยอมรับ ความจริงก็คือไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ การรบกับคนที่มีอุดมการณ์มันรบอยาก ตอนนี้ได้แต่กลัวเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะการข่าวก็แจ้งเตือนมาตลอด"
ชาวบ้านไทยพุทธหนุนเจรจาแต่อย่าหลอกลวง
เมื่อสอบถามความรู้สึกของชาวบ้านไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าเกือบทุกคนมีมุมมองในเชิงสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ฝากให้รัฐบาลมีความจริงใจ เพื่อไม่ให้กระบวนการพูดคุยเจรจาล้มเหลวหรือยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์
นางชลธิดา แก้วรักดี ชาวบ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คนที่เจ็บปวดย่อมหนีไม่พ้นคนในพื้นที่ ทั้งพี่น้องไทยพุทธและพี่น้องอิสลาม ฉะนั้นถ้ามีวิธีใดสามารถทำให้ความขัดแย้งจบลงได้ ก็จะสนับสนุน และจะเป็นผลดีกับคนในพื้นที่อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลจริงใจ จริงจับกับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทำเพื่อหน้าตาหรือหวังผลประโยชน์อื่นใด เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน แต่พอถึงเวลาทำงานก็ทำพอเป็นพิธี พอให้เป็นข่าว แล้วก็จบไป
น.ส.กันยารัตน์ ช่วยกัน ชาวบ้าน จ.ยะลาอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความรุนแรง เพราะตลอด 9 ปีทุกคน ทุกศาสนาต้องตกเป็นเหยื่อความไม่สงบ ถ้าจะแก้ให้จบได้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่รัฐต้องเดินเกมให้ดีๆ อย่าให้ซ้ำร้อยในอดีต อย่าโกหกหลอกหลวงหรือสร้างบาดแผลกันอีกเลย
น.ส.ไพรหงส์ ไม้ข้าม ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัด กล่าวว่า อยากให้ชายแดนใต้มีแต่ความสงบ ไม่มีคนตาย ไม่มีคนถูกยิง ไม่มีคนถูกระเบิด ไม่ต้องมีเสียงปืนเสียงระเบิดให้ได้ยิน แล้วทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนสมัยก่อน แค่นี้ก็พอแล้ว และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้มากที่สุด ไม่ต้องเอาเงินมาให้ ไม่ต้องเอาวัวมาให้ ไม่ต้องการการพัฒนาที่ใช้เงินจำนวนเยอะๆ เหมือนทุกวันนี้ เพราะกว่าจะมาถึงชาวบ้าน แต่ละโครงการก็เหลือแต่กระดูก
ขณะที่ น.ส.พรทิพย์ (สงวนนามสกุล) ข้าราชการครูใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า อยากให้ทุกคน ทุกศาสนาอยู่กันได้อย่างปกติเหมือนเมื่อก่อน ไม่หวาดระแวง ไม่หวาดกลัวซึ่งกันและกัน ไม่มีทหารเยอะแบบปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถไปไหนมาไหนตอนไหนก็ได้ ที่สำคัญอย่าแบ่งแยกกันเอง และรัฐต้องเลิกพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ
ส่วนข้อเสนอเรื่องการตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษนั้น ครูพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการปกครองตนเอง เพราะจะเกิดการแบ่งแยกกันมากขึ้นทันที
"เคยคุยกับเพื่อนมุสลิม เขาบอกว่าถ้าบ้านเรามีการปกครองตนเอง พวกเราจะทะเลาะกันอีกเยอะ และจะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่านี้ โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับเพื่อน รัฐอย่าแบ่งแยกพวกเราเลย แค่นี้ทุกคนต่างก็ได้รับบทเรียนกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมากพออยู่แล้ว" ครูพรทิพย์ กล่าว
ทั้งหมดคือเสียงอันบริสุทธิ์จากผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าพวกเขาจะสวมเครื่องแบบหรือไม่ ทั้งเขาและเธอจะนับถือศาสนาอะไร แต่จุดร่วมของทุกคนตรงกัน คือ สันติสุข!
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ทหารปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าโรงเรียน (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)
หมายเหตุ : ภาพที่ใช้ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ในเรื่อง