สถิติป่วน มี.ค.56 "เดือนถกบีอาร์เอ็น" เหตุรุนแรง-เจ็บตายพุ่งสูงสุด
ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศปร.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รายงานสรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ในรอบเดือน มี.ค.2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างไม่เป็นทางการ
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของ ศปร.กอ.รมน.ภาค 4 สน. พบว่า ตลอดเดือน มี.ค.2556 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นทั้งสิ้น 57 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิงด้วยอาวุธปืน 36 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 15 เหตุการณ์ ก่อกวน 5 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 1 เหตุการณ์
เหตุรุนแรงรวม 57 เหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุความมั่นคงทั้งหมด (คัดแยกเหตุส่วนตัวออกไปแล้ว) พบว่าสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน หรือไตรมาสแรกของปี 2556 เลยทีเดียว โดยในเดือน ก.พ.มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 42 เหตุการณ์ และเดือน ม.ค. 46 เหตุการณ์ (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)
เมื่อแยกดูข้อมูลรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 12 ครั้ง แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 5 ครั้ง ระเบิด 4 ครั้ง และก่อกวน 3 ครั้ง จ.ปัตตานี มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 22 ครั้ง แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 18 ครั้ง ระเบิด 3 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 21 ครั้ง แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 11 ครั้ง ระเบิด 8 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง และลอบวางเพลิง 1 ครั้ง ขณะที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 2 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืนทั้ง 2 ครั้ง
เมื่อพิจารณาข้อมูลลงลึกในระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีสถิติเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ได้แก่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 7 ครั้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 6 ครั้ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 4 ครั้ง และ อ.เมืองยะลา 4 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดเดือน มี.ค.2556 ได้แก่ อ.กาบัง อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี จ.สงขลา รวม 11 อำเภอ จากทั้งหมด 37 อำเภอ และมีวันที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลย 4 วันในรอบเดือน
สำหรับสถิติความสูญเสียตลอดเดือน มี.ค. แยกตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้
- ทหาร บาดเจ็บ 18 นาย เสียชีวิต 1 นาย
- ตำรวจ บาดเจ็บ 2 นาย เสียชีวิต 3 นาย
- ประชาชน บาดเจ็บ 50 ราย เสียชีวิต 30 ราย
- อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) บาดเจ็บ 30 นาย เสียชีวิต 8 นาย
- อาสารักษาดินแดน (อส.) บาดเจ็บ 8 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
- ผู้นำศาสนา บาดเจ็บ 1 ราย
- ผู้ก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 1 ราย
สรุปยอดผู้เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 109 ราย รวมยอดทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต 154 ราย สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2556 เช่นกัน
สรุปยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2556 รวม 111 เดือน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5,075 ราย เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 2,138 ราย ศาสนาอิสลาม 2,806 ราย และไม่ระบุศาสนา 131 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีทั้งสิ้น 9,297 ราย เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 5,866 ราย ศาสนาอิสลาม 2,928 ราย และไม่ระบุศาสนา 503 ราย
กุมภาฯเหตุร้ายเบาบางแต่ระเบิดเพียบ
เดือน ก.พ.2556 มีเหตุรุนแรงทุกประเภทรวม 42 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 20 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 17 เหตุการณ์ ก่อกวน 2 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 3 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หากนับเฉพาะเหตุระเบิดจำนวน 17 ครั้ง ถือว่าสูงที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2556
เมื่อแยกดูข้อมูลรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 10 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 4 ครั้ง ระเบิด 5 ครั้ง และวางเพลิง 1 ครั้ง จ.ปัตตานี 22 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 12 ครั้ง ระเบิด 8 ครั้ง ก่อกวน 2 ครั้ง วางเพลิง 1 ครั้ง จ.นราธิวาส 7 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 3 ครั้ง ระเบิด 4 ครั้ง และสี่อำเภอของ จ.สงขลา 2 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 1 ครั้ง และวางเพลิง 1 ครั้ง
เมื่อลงลึกถึงระดับอำเภอ มีอำเภอที่ติดกลุ่มเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง เช่น อ.เมืองปัตตานี 5 ครั้ง เป็นเหตุระเบิดถึง 4 ครั้ง อ.ยะรัง กับ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อำเภอละ 4 ครั้ง อ.เมืองยะลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อำเภอละ 3 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดเดือน ก.พ.2556 คือ อ.กาบัง อ.เบตง จ.ยะลา อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงปาดี อ.รือเสาะ อ.เมือง อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.นาทวี จ.สงขลา รวม 15 อำเภอจาก 37 อำเภอ และมีวันที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลย 3 วัน
สำหรับสถิติความสูญเสียตลอดเดือน ก.พ. แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
- ทหาร บาดเจ็บ 14 นาย เสียชีวิต 5 นาย
- ตำรวจ บาดเจ็บ 13 นาย
- ประชาชน บาดเจ็บ 47 ราย เสียชีวิต 20 ราย
- อส.ทพ. บาดเจ็บ 8 นาย
- อส. บาดเจ็บ 8 นาย เสียชีวิต 6 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 1 ราย
- ผู้ก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 18 ราย
สรุปเสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บ 90 ราย รวมยอดเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 140 ราย
สรุปยอดผู้เสียชีวิตรวมตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึง 28 ก.พ.2556 (110 เดือน) จำนวน 5,042 ราย แยกเป็น ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 2,123 ราย ศาสนาอิสลาม 2,788 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 9,198 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,800 ราย ศาสนาอิสลาม 2,895 ราย ไม่ระบุศาสนา 503 ราย
มกราฯ56 ยอดเสียชีวิตรวม 9 ปีแตะ 5 พันราย!
เดือน ม.ค.2556 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 46 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 29 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 9 เหตุการณ์ ก่อกวน 3 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 5 เหตุการณ์
เมื่อแยกดูข้อมูลรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 5 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 3 ครั้ง ที่เหลือเป็นเหตุก่อกวนและลอบวางเพลิงอย่างละ 1 ครั้ง จ.ปัตตานี 20 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 11 ครั้ง ลอบวางระเบิด 5 ครั้ง วางเพลิง 4 ครั้ง จ.นราธิวาส 20 ครั้ง เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 14 ครั้ง ลอบวางระเบิด 4 ครั้ง ก่อกวน 2 คร้ัง ขณะที่สี่อำเภอของ จ.สงขลา มีเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 1 ครั้ง
เมื่อลงลึกถึงข้อมูลระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ได้แก่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 7 ครั้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 5 ครั้ง อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 4 ครั้ง และ อ.เมืองยะลา กับ อ.เมืองนราธิวาส อำเภอละ 3 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่เกินเหตุรุนแรงเลยตลอดเดือน ม.ค.2556 ได้แก่ อ.กรงปินัง อ.ยะหา อ.กาบัง อ.ธารโต อ.รามัน อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.ยี่งอ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ตากใบ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี จ.สงขลา รวม 17 อำเภอจาก 37 อำเภอ และมีวันที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลย 4 วัน
สำหรับสถิติความสูญเสียตลอดเดือน ม.ค.2556 แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
- ทหาร บาดเจ็บ 20 นาย เสียชีวิต 4 นาย
- ตำรวจ เสียชีวิต 2 นาย
- ครู เสียชีวิต 1 ราย
- ประชาชน บาดเจ็บ 21 ราย เสียชีวิต 28 ราย
- อส.ทพ.บาดเจ็บ 7 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น บาดเจ็บ 1 ราย เสียชีวิต 2 ราย
- ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 1 ราย
สรุปเสียชีวิต 38 ราย บาดเจ็บ 49 ราย รวมยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 87 ราย
สรุปยอดผู้เสียชีวิตรวมตั้งแต่ 4 ม.ค.2547 ถึง 31 ม.ค.2556 อยู่ที่ 5,003 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 2,111 ราย ศาสนาอิสลาม 2,761 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย มีผู้บาดเจ็บรวม 9,114 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,735 ราย ศาสนาอิสลาม 2,876 ราย ไม่ระบุศาสนา 503 ราย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองนราธิวาส เมื่อ 1 มี.ค.2556 หลังผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นเพียง 1 วัน (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)