แล้งทำผลผลิตนาปรังลด 2.3 ล.ตัน – คาดโครงการจำนำเพิ่มผลิตนาปี
สศก. เผยภัยแล้งฉุดผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากปีก่อน 2.3 ล้านตัน คาดข้าวนาปี’56 ผลผลิตเพิ่ม 0.6 ล้านตัน ผลโครงการจำนำจูงใจ ระบุออกมากสุดพ.ย-ธ.ค. รวม 21 ล.ตัน
วันที่ 1 เม.ย. 56 นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงเดือนธ.ค. 55 ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปีที่แล้ว กษ.จึงประกาศให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากมีน้ำน้อยกว่าปกติมากในพื้นที่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา
ดังนั้นเกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทนส่งผลให้เนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงกว่า 3.3 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามสำหรับเขตปลูกข้าวนาปรังในภาคกลาง เนื้อที่เพาะปลูกลดลงไม่มากนัก เพราะเกษตรกรบางส่วนยอมรับความเสี่ยงต่อผลผลิตที่จะได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้ปลูก ไปแล้วเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ นอกจากนี้จากสภาพอากาศแห้งแล้งซึ่งปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2556 โดยรวมลดลงจากปีที่แล้ว 2.3 ล้านตัน เหลือ 9.9 ล้านตันข้าวเปลือก
สำหรับข้าวนาปี 2556/57 ที่จะเริ่มฤดูการผลิตในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ทำให้ให้เกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้นในแหล่งผลิตทั้งภาคเหนือและภาคกลาง นอกจากนี้ ปีที่แล้วเกษตรกรบางส่วน ในจังหวัดแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา และนครปฐม ได้เลื่อนการเพาะปลูกเร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย โดยได้เริ่มปลูกในเดือนเม.ย.ซึ่งอยู่ในฤดูปลูกข้าวนาปรัง แต่ปีนี้คาดว่าจะกลับมาปลูกในช่วงนาปีปกติคือ ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 65 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 27.5 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนพ.ย. – ธ.ค. รวมประมาณ 21.86 ล้านตัน