ครม.คุมเข้มรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการรับจำนำหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการรับจำนำ
ข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556 / 57
2. อนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
สาระสำคัญของกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ วิธีการจำนำ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และพิจารณาอนุมัติวงเงินดำเนินการโครงการต่อไป มีดังนี้
1. ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลด ตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาวในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท
2. เป้าหมายปริมาณรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปี
การผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7.0 ล้านตัน จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อย่างไรก็ตาม กษ. จะประกาศปริมาณผลผลิตอย่างเป็นทางการอีกครั้งกลางเดือนมีนาคม 2556
3. ปริมาณจำนำของเกษตรกรแต่ละราย เกษตรกรจะจำนำข้าวเปลือกได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง /แปลง/ ราย โดย
คำนวณตามพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดที่ได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผลผลิตรวมของเกษตรกรตามหนังสือรับรองที่กรมส่งเสริมการเกษตรออกให้เกษตรกรเป็นข้อมูลประกอบ กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 สูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยให้ปรับเพิ่มได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 (ณ ความชื้อ 15%) โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นข้าวเปลือกของเกษตรกรเองและแจ้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบในการกำกับดูแลและตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจะต้องตรวจสอบเกษตรกรที่มีผลผลิตเกินว่าร้อยละ 20 ทุกราย รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง ตลอดจนให้คณะทำงานจากส่วนกลางสุ่มตรวจสอบด้วย
4. การออกใบรับรองเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป โดยใช้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ที่คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตได้ให้ความเห็นชอบแล้วมาคำนวณ
5. ระยะเวลา รับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ – 15 กันยายน 2556 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
6. วิธีการรับจำนำ รับจำนำใบประทวน โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะต้องออกใบประทวนให้แก่เกษตรกร ภายใน 3 วันทำการโดยเคร่งครัด และ ธ.ก.ส. จะต้องทำสัญญาและจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรภายใน 3 วันทำการโดยเคร่งครัด
7.เงื่อนไขการรับจำนำ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ป้องกันการสวมสิทธิและทุจริตให้รัดกุมยิ่งขึ้น ให้กำหนด
เงื่อนไขในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 เพิ่มเติม ดังนี้
7.1 พันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการและพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว กษ. จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งให้ กษ. วางมาตรการที่จะกำกับดูแลไม่ให้เกษตรกรมีการสวมสิทธิ และนำข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองมาเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างความเชื่อถือคุณภาพข้าวที่รับจำนำและพัฒนาคุณภาพข้าวของเกษตรกรให้มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งส่งผลโดยรวมต่อการค้าข้าวของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
7.2 เกษตรกรผู้มีสิทธิจำนำ กำหนดให้เฉพาะเกษตรกรเท่านั้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว
(ยกเลิกให้กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์เป็นผู้รวบรวมข้าวจากเกษตรกรแล้วนำมาจำนำแทน)
7.3 การเข้าร่วมโครงการของโรงสี
(1) โรงสี หรือท่าข้าว (กรณีเป็นจุดนอกพื้นที่) หรือจุดรวบรวมของสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร ที่ตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดในการทุจริตหรือสวมสิทธิเกษตรกรซึ่งได้ขึ้นบัญชีไว้ และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อโรงสีหรือท่าข้าว หรือเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินการ เพื่อใช้เป็นจุดรวบรวมข้าวหรือเปิดเป็นจุดนอกพื้นที่จะไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำเป็นระยะเวลา 3-5 ปี
(2) กรณีที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวมีมติว่า โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดบัญชีไว้และไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาลเป็นเวลา 3-5 ปี
(3) กรณีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการถูกดำเนินคดีทางแพ่งหรืออาญา หรือตามพระราชบัญญัติค้าข้าว และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดหรืออยู่ระหว่างการแจ้งความ/ฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องนิติบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือทุจริตในการดำเนินโครงการฯ แม้ภายหลังจะเปลี่ยนแปลงชื่อ หรือเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการก็ตาม จะไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล
7.4 การกำกับดูแล
(1) การออกหนังสือรับรองเกษตรกรมอบหมายให้ กษ. เข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
(2) จุดรับจำนำ
(2.1) ปรับปรุงระบบการออกใบประทวนของ อคส./อ.ต.ก. โดยใช้ระบบ online แทนการออกใบประทวนโดยวิธี Excel เพื่อป้องกันการแก้ไขใบประทวน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทุจริตได้
(2.2) ปรับปรุงระบบข้อมูลการสั่งสีแปรสภาพ การแปรสภาพ การส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลางของหน่วยงานที่เกิดขึ้น ได้แก่ อคส./อ.ต.ก. และกรมการค้าภายใน ให้สามารถเชื่อมโยงกันด้วยระบบ IT ได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามและกำกับดูแลได้ตลอดระยะเวลา
(3) การเพิ่มประสิทธิภาพการรับจำนำอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร ตัวแทนภาคราชการประจำจุดรับจำนำให้มีความรู้ในการให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรในการนำข้าวเปลือกมาจำนำโครงการ
(4) ส่วนภูมิภาค มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ เข้มงวดกวดขันในการกำกับดูแลการสีแปรสภาพและส่งมอบข้าวของโรงสีเข้าโกดังกลางให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
(5) ส่วนกลาง
(5.1) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ฯ ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันและเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ โดยให้มีการตรวจสอบเพิ่มขึ้นเป็นระยะตลอดระยะเวลาโครงการ และกรณีที่มีการร้องเรียนให้จัดสายตรวจจากส่วนกลางตรวจสอบทันที
(5.2) กรณีที่สายตรวจเฉพาะกิจของกรมการค้าภายในหรือคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบพบโรงสีกระทำความผิดในการทุจริต เช่น สวมสิทธิเกษตรกร ลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ เป็นต้น และมีการลงบันทึกประจำวันไว้ให้ อคส./อ.ต.ก. แจ้งความดำเนินคดีฟ้องร้องกับโรงสีดังกล่าวภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้งโดยเคร่งครัด
(5.3) มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการขนย้ายข้าวเปลือก ข้าวสาร ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ตรวจสอบใบกำกับการขนย้าย ที่เป็นฉบับจริง รวมทั้งระยะเวลาในการขนย้ายให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงโดยเคร่งครัด
8. วงเงินรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ขออนุมัติรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 6 ตามมติ กขช. ในวงเงิน 105,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่อยู่ในกรอบวงเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 410,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 โดยจะขออนุมัติใช้เงิน 105,000 ล้านบาทจาก 2 แหล่ง ได้แก่
8.1 วงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 ที่ยังคงเหลืออยู่
8.2 เงินที่ได้จากระบายข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินโครงการรับจำนำฯ ด้วย
กรณีมีความจำเป็นให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายผลิตผล หรือเงินจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งนี้ ให้ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราว ๆ ไป (เนื่องจาก ธ.ก.ส. ต้องบริหารสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเงินฝากของ ธ.ก.ส.) โดยคิดอัตราชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา FDR+1 โดยปรับอัตราดอกเบี้ย FDR ทุก 6 เดือน (หากมีการเปลี่ยนแปลง) ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย FDR+1 เท่ากับร้อยละ 2.9875 ต่อปี และให้ค่าบริหารโครงการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ในอัตราร้อยละ 2.25 ของต้นเงินคงเป็นหนี้ ระยะเวลา 5 เดือน
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. แยกการดำเนินงานโครงการออกจากการดำเนินงานปกติเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ เพื่อทราบผลกระทบการดำเนินโครงการและขอชดเชยความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งให้ผลการดำเนินโครงการจากเงินทุนที่ได้จาการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่นับรวมเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยเงินกองทุนของ ธ.ก.ส. และในกรณีมีผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการให้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยภาระขาดทุน ทั้งในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และส่วนที่กู้ จากสถาบันการเงิน
9. การดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 จะพิจารณาทบทวนความเหมาะสมในการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากรัฐบาลได้ กษ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำหนดโซนนิ่งว่าพื้นที่ใดควรจะปลูกข้าวหรือพืชชนิดใดทดแทนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตลดลง รวมทั้ง กษ.มีมาตรการลดต้นทุนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เช่น เรื่องเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ย เป็นต้น