เก็บตกโต๊ะเจรจา กับปริศนา "บีอาร์เอ็นหลังม่าน"
มีหลายประเด็นที่ยังไม่ถูกพูดถึง หรือถูกพูดถึงแต่ยังไม่ถูกต้องนัก จากโต๊ะพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนัดแรกระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 28 มี.ค.2556
หลายเรื่องเป็นสาระหรือข้อสังเกตที่น่าบันทึกไว้เป็นข้อมูล ขณะที่บางเรื่องก็เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือสีสันน่าสนใจ
เซฟเฮาส์สันติบาลมาเลย์
ประเด็นแรก คือ สถานที่จัดประชุม ซึ่งยังคงสับสนว่าเป็น "โรงเรียนฝึกตำรวจ" หรือ Police Training School บนถนนจาลัน เสมารัก หรือไม่ เพราะโรงเรียนฝึกตำรวจดังกล่าวนี้ เคยใช้เป็นสถานที่พูดคุยและลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ทำให้มีทั้งผู้สื่อข่าวไทย ผู้สื่อข่าวมาเลเซีย และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศไปดักรอรายงานข่าวและบันทึกภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสำนักข่าวอัลจาซีราห์ ถึงกับกางแผงกันแดดนั่งเฝ้าบันทึกภาพบริเวณสวนหย่อมหน้าประตูทางเข้ากันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลจากผู้เข้าร่วมคณะพูดคุยสันติภาพหลายราย ยืนยันว่าไม่ได้ประชุมกันในโรงเรียนฝึกตำรวจ แต่เป็นเซฟเฮาส์ของสันติบาลมาเลเซีย โดยเชื่อว่าเซฟเฮาส์แห่งนี้อยู่ไม่ห่างจากโรงแรมเท่าใดนัก เพราะขากลับใช้เวลาเพียงสั้นๆ ก็กลับถึงโรงแรมเจดับบลิว แมริออต ที่พักของคณะจากประเทศไทย
"ขาไปเจ้าหน้าที่มาเลเซียเขาพานั่งรถวน ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกไกลมาก แถมยังขับเข้าไปในโรงเรียนฝึกตำรวจเพื่อหลอกนักข่าวด้วย แต่เข้าไปพักเดียวก็ขับออกด้านหลัง แล้วจึงไปยังอาคารแห่งหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นเซฟเฮาส์ของสันติบาล และคงอยู่ใกล้ๆ โรงแรมนี่เอง เพราะขากลับนั่งรถแป๊บเดียวก็ถึงแล้ว" หนึ่งในคณะพูดคุย 9 คน เล่าให้ฟังอย่างออกรส
บีอาร์เอ็นหลังม่าน
ประเด็นที่ 2 เรื่องตัวบุคคลที่ร่วมพูดคุย ในส่วนของผู้แทนรัฐบาลไทยมีเพียง 9 คน ไม่ใช่ 15 คนตามที่เป็นข่าวมาตลอด ได้แก่ ตัวหลัก 4 คนเดิม คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
ส่วนที่เพิ่มเข้ามาอีก 5 คน ได้แก่ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.ศปป.5 กอ.รมน.) นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอาศิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) และ นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ พล.ท.ภราดร ให้ข้อมูลเองว่า มากันมากกว่า 6 คน แต่ขึ้นโต๊ะพูดคุยแค่ 6 คน คือ นายฮัสซัน ตอยิบ กับพวก ได้แก่ แกนนำบีอาร์เอ็นคองเกรส บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และองค์การพูโล แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้ร่วมพูดคุยคนอื่นๆ ยกเว้นนายฮัสซัน
พล.ท.ภราดร บอกว่า เมื่อฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐขึ้นโต๊ะแค่ 6 คน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ต้องจัดคนเข้าร่วมวงพูดคุยแค่ 6 คนเช่นกัน ส่วนอีก 3 คนที่เหลือก็นั่งสนับสนุนข้อมูลด้านหลัง
ข้อมูลจากการสืบเสาะต่อมาทำให้ทราบว่า บุคคลที่ขึ้นโต๊ะพูดคุยเจรจาของฝ่ายทางการไทย นอกจากตัวหลัก 4 คนแล้ว ก็คือ พล.ท.สำเร็จ กับผู้ว่าฯนราธิวาส
เมื่อถามว่า ผู้เห็นต่างจากรัฐคนอื่นๆ ที่มาร่วมด้วยแต่ไม่ขึ้นโต๊ะพูดคุยมีใครบ้าง พล.ท.ภราดร ตอบยิ้มๆ ว่า "ไม่ทราบ เพราะมีม่านกั้นอยู่ คนอื่นๆ นอกเหนือจากคณะผู้พูดคุย 6 คนอยู่หลังม่าน แล้วมีการสื่อสารกันตลอดเวลาด้วยวิธีการต่างๆ ระหว่างที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนของรัฐบาลไทย" แต่ก็ยอมรับว่าคนอื่นๆ ที่ขึ้นโต๊ะเจรจาไม่ได้ น่าจะเป็นคนที่ถูกออกหมายจับจากทางการไทย
เมื่อซักว่ามี นายสะแปอิง บาซอ แกนนำคนสำคัญที่เชื่อกันว่าเป็นประธานบีอาร์เอ็น และผู้นำทางจิตวิญญาณด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดร ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะอยู่หลังม่าน
อย่างไรก็ดี เมื่อนำประเด็นนี้ไปถามผู้ร่วมคณะพูดคุยคนอื่นๆ ปรากฏว่าประเด็นที่ว่ามีคนขึ้นโต๊ะพูดคุยเจรจาแค่ฝ่ายละ 6 คนนั้น ทุกคนบอกตรงกัน ส่วนเรื่อง "ผู้สนับสนุนหลังม่าน" มีการให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป
ผู้เข้าร่วมคณะพูดคุยรายหนึ่งซึ่งเป็น "คนมีสี" กล่าวว่า "ม่านที่ไหน ไม่มี เขาอยู่กันชั้นบน เวลาพักการพูดคุยหรือมีประเด็นอะไรสำคัญๆ เขาจะเดินไปถามกัน เราก็เลยไม่เห็นหน้าว่าเป็นใคร"
อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมคณะพูดคุยรายนี้ ยืนยันว่า คนที่มาร่วมขึ้นโต๊ะพูดคุยล้วนเป็นแกนนำกลุ่มเก่า อายุเยอะๆ ทั้งสิ้น นอกจากนายฮัสซันแล้ว เขารู้จักเพียงคนเดียว เป็นฝ่ายกองกำลัง และน่าจะมีหมายจับของทางการไทย
ขณะที่ นายอาศิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ในฐานะผู้แทนภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมในคณะพูดคุย กล่าวถึงปริศนา "บีอาร์เอ็นหลังม่าน" ว่า ไม่มี ไม่อยากพูดว่ามีม่านหรือไม่ แต่อีกห้องหนึ่งที่ว่าไม่มีคนอื่นอีกแล้ว
"ห้องที่พูดถึงกันคือห้องละหมาด ผมทราบเพราะต้องไปละหมาดเหมือนกัน ในนั้นไม่มีใครอีกแล้ว ฝ่ายบีอาร์เอ็นมากันแค่ 6 คน" นายอาศิส กล่าว
ไม่มี "สะแปอิง" มีแต่ "มะสุกรี"
ข้อมูลจากผู้ร่วมคณะพูดคุยซึ่งเป็น "คนมีสี" อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า เกือบจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใครในกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพราะบางคนก็หน้าตาเปลี่ยนไป และแต่งตัวดี สวมเสื้อผ้าแบบคนมาเลย์พื้นเมือง และสวมหมวกกะปิเยาะห์ ประกอบกับแต่ละคนไม่บอกชื่อจริง แต่ใช้ชื่อจัดตั้ง
"บางคนพูดไปพูดมายังจำชื่อตัวเองไม่ได้เลย" เขากล่าวขำๆ แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง
"คนมีสี" ทั้ง 2 คนจากคณะพูดคุย ยืนยันตรงกันว่า ไม่มี นายสะแปอิง บาซอ หรือแกนนำระดับสูงของขบวนการแบ่งแยกดินแดนร่วมอยู่ในคณะผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่ว่าจะบนโต๊ะพูดคุยเจรจา หรือหลังม่าน (ถ้ามี) ก็ตาม
ส่วนคนจากฝ่ายกองกำลังและมีหมายจับของทางการไทยที่ถูกพูดถึงนั้น ชื่อว่า นายมะสุกรี (สงวนนามสกุล) เป็นลูกชายของผู้นำศาสนาคนสำคัญในสามจังหวัด โดยนายมะสุกรีขึ้นโต๊ะพูดคุยด้วย และร่วมสนทนาด้วยท่าทีแข็งกร้าว ใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุนแรง
ประวัติศาสตร์อยุติธรรม
ประเด็นที่ 3 เนื้อหาการพูดคุยและข้อตกลง พล.ท.ภราดร สรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า ได้พูดคุยประเด็นหลักๆ 2 เรื่อง คือ
1.กระบวนการดำเนินงานในลำดับต่อไป ซึ่งได้จัดทำทีโออาร์ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญคือ คณะพูดคุยจะมีฝ่ายละไม่เกิน 15 คน มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และทั้งสองฝ่ายจะสื่อสารกันผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือทางการมาเลเซีย
2.ข้อตกลงในเบื้องต้นระหว่าง 2 ฝ่าย คือลดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เห็นพ้องกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องการสันติสุข จึงตกลงร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี ต่างฝ่ายต่างมีข้อเรียกร้องแก่กัน คือ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐขอให้รัฐบาลไทยอำนวยความยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยขอให้ลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ แต่ในรายละเอียดทั้งสองฝ่ายได้ขอนำกลับไปหารือกันในฝ่ายของตน ก่อนจะนัดพบกันอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.2556
ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อเรียกร้องเรื่องการอำนวยความยุติธรรม เพราะมีข่าวออกมาครึกโครมทั้งการปลดบัญชีดำ 3 หมื่นชื่อ และการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคง แต่จากการสอบถามผู้ร่วมคณะพูดคุยกลับได้รับการยืนยันว่าข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น
นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานี ซึ่งร่วมอยู่ในคณะพูดคุย กล่าวว่า หลักๆ คือฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐได้เปิดใจเล่าถึงความทุกข์และความเจ็บปวดในอดีต และสาเหตุที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้ พร้อมยกถึงเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมในอดีตหลายเหตุการณ์ไล่เรียงมา เช่น กรณีหะยีสุหลง (ผู้นำทางจิตวิญญาณ เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย และเชื่อว่าถูกอุ้มฆ่าเมื่อปี 2497) เหตุสังหาร 6 ศพที่สะพานกอตอ เมื่อปี 2518 กระทั่งถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ในปี 2547
ขณะที่ทางการไทยก็ได้อธิบายถึงขีดจำกัดในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนความตั้งใจจริงที่จะคลี่คลายสถานการณ์ โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงการดำเนินนโยบายที่เคารพอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมมากขึ้นในระยะหลัง เช่น เรื่องการสนับสนุนการใช้ภาษามลายู เป็นต้น
นายศรีสมภพ เล่าด้วยว่า ทางฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไม่ได้เรียกร้องอะไรอย่างชัดเจน เพียงแต่ให้ฝ่ายรัฐไทยไปหาวิธีสร้างความเป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้้นที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์ที่รัฐทำเอง และกลุ่มอื่นทำเพื่อแก้แค้นด้วย ฉะนั้นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหา รัฐต้องให้ความเป็นธรรมก่อน
ข้อมูลจากผู้ร่วมคณะพูดคุยหลายคนสอดคล้องกันว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐอ้างว่าไม่เคยต้องการก่อเหตุรุนแรงที่ไปกระทบกับเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้หญิง เด็ก พระ แต่สาเหตุที่มีความสูญเสียเพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป้าหมายประชาชนเป็นเกราะกำบัง
ด้าน "คนมีสี" ที่ร่วมในคณะพูดคุย กล่าวว่า ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเน้นเล่าประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดในอดีต และไม่ได้มีข้อเสนอหรือเรียกร้องอะไรมาก แค่ให้ทางการไทยไปคิด ซึ่งก็เป็นชั้นเชิงการพูดคุยเจรจาอยู่แล้วที่จะไม่ยื่นเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องชัดเจน เพื่อให้ฝ่ายตนเองคงความได้เปรียบเอาไว้
"ไม่มีหรอกให้ปลดบัญชีดำ ปลดหมายจับ เพราะถ้าเราทำได้จริง แรงกดดันก็จะไปอยู่ที่เขาทันที เขาก็เสนอกว้างๆ ให้เราเสนอกลับไป เช่นเดียวกับที่เราเรียกร้องให้ลดเหตุรุนแรง เราก็ไม่ได้กำหนดพื้นที่หรือกรอบเวลาชัดเจน เพื่อให้เขาเป็นฝ่ายเสนอมา ซึ่งข้อเสนอของเขาก็จะนำมาประเมินได้ว่า เขาเป็นตัวจริงแค่ไหน สั่งการได้แค่ไหนด้วย" คนมีสีจากคณะพูดคุย ระบุ
ความชัดเจนของทั้งสองข้อเรียกร้อง ต้องรอการประชุมนัดต่อไปในวันที่ 29 เม.ย.!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ด้านหน้าโรงเรียนฝึกตำรวจมาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีสื่อมวลชนไปรอรายงานข่าวการพูดคุยสันติภาพ แต่ทางการมาเลเซียกลับไม่เลือกใช้สถานที่นี้
2 ขบวนรถที่ทางการมาเลเซียจัดให้คณะพูดคุยจากรัฐบาลไทย จอดยาวเหยียดหน้าโรงแรมเจดับบลิว แมริออต
3 ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนตำรวจมาเลเซียที่รั้วโรงเรียน
4 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร สองคีย์แมนหลัก (ภาพทั้งหมดโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)