วิจัยพบสภาพอากาศรุนแรงครั้งใหญ่ 4 ปท.ลุ่มโขง กระทบหนักความมั่นคงอาหาร
วิจัยพบสภาพอากาศรุนแรงกระทบนิเวศน์ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงครั้งใหญ่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ผลผลิตภาคเกษตรลด เออาร์ซีซีจับมือ อปท.จังหวัดเสี่ยงเตรียมความพร้อมชุมชน
โครงการแม่โขง เออาร์ซีซี (Mekong ARCC) เผยผลการศึกษาในโครงการวิจัยผลกระทบและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของประเทศในกลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่างอันประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม โดยระบุว่า 4 ประเทศแถบลุ่มแม่นํ้าโขงกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ และยางพารา รวมทั้งผลผลิตทางการประมงและปศุสัตว์
“น่าตกใจอย่างยิ่งว่าภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงกำลังจะเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเกินที่นักวิจัยเคยคาดการณ์ไว้ทั้งเรื่องอุณหภูมิและปริมาณนํ้าฝน” ดร.เจอเรมี่ แครูว์-รี้ด หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
การศึกษาที่มีองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนนี้ ยังระบุด้วยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส อาจส่งผลให้ภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงตอนล่างต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 4-6 องศาเซลเซียส ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหารในชนบท รวมทั้งเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย ผลการศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่อุณหภูมิและปริมาณนํ้าฝนเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่าง จะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และแหล่งเพาะปลูกทั้งเพื่อการยังชีพและเพื่อการพาณิชย์
คือพื้นที่ราบลุ่มตอนเหนือของประเทศไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์และปลูกข้าวได้น้อยลง ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณสูงขึ้น, การอพยพของฝูงปลาบริเวณตอนล่างของลุ่มแม่นํ้าโขงมีจำนวนลดลง, ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเวียดนามลดลง พื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัด Kien Gian ทางตอนใต้ของเวียดนามอาจได้รับประโยชน์จากปริมาณนํ้าฝนที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัด Gia Lai ทางตอนกลางของเวียดนามอาจได้รับความเสียหาย
ความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมของดินเพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ยางพารา กาแฟ และมันสำปะหลังในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของประเทศกัมพูชามีจำนวนลดลง, เกษตรกรชาวลาวจำเป็นต้องย้ายฐานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ไปยังบริเวณพื้นที่สูง เนื่องจากผลกระทบด้านปริมาณนํ้าฝนและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้โครงการแม่โขงเออาร์ซีซี เตรียมทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดเสี่ยงของแต่ละประเทศในลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่าง ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ชุมชน โดยจะมีการแถลงข่าวผลการวิจัยนี้ในวันที่ 29 มี.ค.56 เวลา 14.00-15.00 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ .