หนุนตั้ง สนง.สำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนในไทย รับมือภัยพิบัติอนาคต
13ชาติหนุนตั้งสำนักเลขาฯองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินในไทย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค รับมือภัยพิบัติอนาคต
วันที่ 28 มี.ค. 56 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลลาดพร้าว นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะมนตรีถาวรขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยในมีคณะมนตรีถาวร APTERR จาก 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศอาเซียน 10 ประเทศและประเทศ บวกสาม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และหน่วยงานด้านความมั่นคงทางอาหารในอาเซียนเข้าร่วมประชุม
นายยุคล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองร่างกฎระเบียบและคู่มือการดำเนินงานต่างๆ ของ APTERR โดยเฉพาะคู่มือการระบายและเต็มเติมข้าวสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานของ APTERR เป็นเวลานับสิบปีตั้งแต่ที่เป็นโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันตะวันออก (The Pilot Project on East Asia Emergency Rice Reserve: EAERR) และล่าสุดที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (AMAF+3) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ณ ประเทศลาว ได้มีฉันทามติให้จัดตั้งสำนักเลขานุการ APTERR ณ ประเทศไทยตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการรับรองสถานะของสำนักเลขานุการ APTERR แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้มีการออกกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้
นอกจากนี้สศก. ได้ปรับปรุงสถานที่สำหรับจัดตั้งสำนักเลขานุการอย่างถาวร โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ซึ่งสำนักเลขานุการแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก APTERR ทั้ง 13 ประเทศ ในการบริหารจัดการข้าวสำรองฉุกเฉินของภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวต่อไป