กษ.ยืนยันมีน้ำเหลือใช้พอตลอดฤดูแล้ง คุมพอเพาะปลูกถึงหน้าฝน
ก.เกษตรฯ เผยสถานการณ์แล้งเหลือน้ำใช้พอ 24 % - ยันสำรองได้ถึงหน้าฝน แจงกระทบพื้นที่เกษตรเพียง 2 จว. ‘เชียงราย- อุตรดิตถ์’
วันที่ 27 มี.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ตามแผนเพื่อการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศที่ 23,570 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 17,128 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ขณะที่ภาคอีสานซึ่งมีแผนจัดสรรน้ำที่ 1,529 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 1,173 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 75
โดยกรมชลประทานได้วิเคราะห์สถานการณ์ว่าในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคยังมีเพียงพอ ขณะที่น้ำใช้เพื่อการเกษตรในเขตชลประทานสามารถประคองสถานการณ์ไว้ได้จนกระทั่งถึงฤดูกาลฝนในเดือนพฤษภาคม
นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทานด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 26 มี.ค. 56 พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศขณะนี้เหลืออยู่ 42,000 ล้าน ลบม. หรือร้อยละ 56 คิดเป็นน้ำใช้การได้ 18,204 ล้านลบ.ม. หรือ ร้อยละ 24 หลังจากสิ้นสุดการระบายน้ำในวันที่ 30 เม.ย. 56 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศจะเหลืออยู่ที่ 11,762 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำสำรองเก็บไว้เพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งวางแผนการใช้น้ำช่วงหน้าแล้งไว้ที่ 9,000 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันใช้ไป 7,601 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำใช้ได้อีก 1,400 ล้านลบ.ม โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกเกินแผนที่วางไว้ที่ 9.17 ล้านไร่ อยู่ร้อยละ10 โดยปลูกไป 10.06 ล้านไร่ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการใช้น้ำและจะเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก
โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตต์ เขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อยจะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ที่ 3,127 ล้าน ลบ.ม (ปัจจุบันเหลืออยู่ 4,032 ล้าน ลบ.ม.) เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องการน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับภาคอีสาน ขณะนี้มีแผนระบายน้ำในช่วงหน้าแล้งอีกประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในภาคอีสาน 1,153 ล้าน ลบ.ม. โดยเชื่อว่ายังมีปริมาณน้ำเพียงพอและเหลือใช้สำหรับการปลูกข้าวนาปีเช่นกัน
ด้านนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภาพรวมการปลูกพืชฤดูแล้งขณะนี้ทั่วประเทศมีการเพาะปลูกเกินจากแผนมาประมาณ 40,000 ไร่ อย่างไรก็ดีสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้งนอกเขตชลประทานขณะนี้ยังต่ำกว่าแผนที่วางไว้อยู่ที่ 7.55 ล้านไร่ โดยมีการปลูกไปเพียง 6.5 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 87 เป็นข้าวนาปรัง 4.9 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 89
ทั้งนี้จากการตรวจสอบจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า พื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งในช่วงเดือนม.ค. – ปัจจุบันยังอยู่ในวงจำกัด โดยเสียหายเพียง 2 จังหวัด คือ เชียงรายและอุตรดิตถ์เท่านั้น