สำรวจประเด็นถกบีอาร์เอ็นนัดแรก กับโจทย์ข้อยาก สมช.หลัง 28 มีนาฯ
แม้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ยืนกรานว่าการพูดคุยกับกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ยังไม่มีประเด็นอะไรพิเศษ เพราะยังอยู่ในช่วงของการ "สร้างความเชื่อมั่น" หรือ confidential building ระหว่างกันเท่านั้น
และยังเป็นเพียงการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ทว่าข่าววงในจากคนที่ไปร่วมวงพูดคุยตั้งแต่ก่อนวันที่ 28 ก.พ.ซึ่งมีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยกันอย่างเอิกเกริก บอกว่า หลังจากวันที่ 28 ก.พ.ก็มีการนัดพูดคุยกันอีก โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 5 มี.ค. และครั้งนั้นก็เริ่มมีการ "ร้องขอ" กันเบื้องต้นจากทั้งสองฝ่ายบ้างแล้ว
ฝ่ายความมั่นคงไทยเปรยไป 2 เรื่อง คือ
1.ให้ช่วยลดการก่อเหตุรุนแรงโดยเฉพาะระเบิดในเขตชุมชนเมืองซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมาก
กับ 2.ให้ช่วยลดการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ผู้หญิง เด็ก และครู โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 28 มี.ค. แต่ให้ดำเนินการทันทีเพื่อแสดงความจริงใจ และเพื่อให้บรรยากาศการพูดคุยในลำดับต่อไปดียิ่งขึ้น
"ฮัสซัน ตอยิบ ก็รับปาก บรรยากาศเป็นไปอย่างดีเยี่ยม" แหล่งข่าวที่ไปร่วมวงพูดคุยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.เล่าย้อนให้ฟัง โดยชื่อ ฮัสซัน ตอยิบ ก็คือบุคคลที่ลงนามในฐานะแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ร่วมกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.จากรัฐบาลไทย
ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยื่นข้อเรียกร้องกับฝ่ายไทยอย่างไม่เป็นทางการเหมือนกัน โดยขอให้พิจารณายกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และลดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมให้น้อยลง
จริงๆ แล้วเงื่อนไขข้อนี้ทางบีอาร์เอ็นพูดมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.
ผ่านมาเกือบ 1 เดือน กระทั่งใกล้ถึงวันนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการนัดแรก คือวันที่ 28 มี.ค. ดูเหมือนข้อเรียกร้องที่ทั้งสองฝ่าย "เปรย" กันไว้ จะยังมองไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ เพราะรัฐบาลไทยก็ยังขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 32 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งยกเลิกไปก่อนหน้านี้แล้ว) ออกไปอีก 3 เดือน ขณะที่ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ก็ยังคงมีอยู่ปกติ
อีกด้านหนึ่ง เหตุรุนแรงในเขตเมืองก็ยังคงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และมีเป้าหมายอ่อนแอได้รับผลกระทบด้วย ได้แก่
- 1 มี.ค. คาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย
- 2 มี.ค. คาร์บอมบ์ในเขต อ.เมืองยะลา ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย มีผู้บาดเจ็บอีก 12 ราย
- 21 มี.ค. มอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทำให้เด็ก 9 ขวบเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย
นอกจากนั้นยังมีเหตุระเบิดครั้งรุนแรงในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ทำให้สูญเสียนายตำรวจน้ำดีไปถึง 3 นาย และเหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 7 นาย ทั้งยังมีเหตุการณ์ในลักษณะป่วนเมืองครั้งละหลายจุดอีกหลายครั้ง
ฉะนั้นประเด็นแรกที่ทั้งสองฝ่ายต้องถกกันอย่างแน่นอนก็คือ ทำไมเหตุรุนแรงยังคงเกิดขึ้น และเมื่อไรรัฐบาลไทยจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางพื้นที่
จริงๆ แค่ 2 ประเด็นนี้ก็น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะสะท้อนถึง "ข้ออ่อน" ของทั้งสองฝ่ายด้วย ด้านหนึ่งคือข้ออ่อนของคณะพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลไทยที่ไม่มีตัวแทนจากกองทัพหรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่อย่างแท้จริงเข้าร่วมด้วยตั้งแต่แรก ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือข้ออ่อนของฝ่ายนายฮัสซัน ซึ่งหลายฝ่ายยังแสดงความสงสัยว่ามีศักยภาพสั่งการกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ได้จริงหรือไม่
ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เตรียมนำไปพูดคุยกัน แต่ยังไม่ชัดว่าจะมีเวลาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนานแค่ไหน ยังมีอีก 3 ประเด็น คือ
1.ผู้มีหมายจับหรือถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุมากแล้ว จะนิรโทษกรรมได้หรือไม่
2.จัดรูปแบบการปกครองหรือการบริหารพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
3.การพัฒนาในมิติต่างๆ
อย่างไรก็ดี ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะหน้า แต่ต้องพูดคุยกันในระยะยาว คาดว่าจะมีการมอบหมายให้คณะทำงาน 15 คนของทั้งสองฝ่ายไปพิจารณาตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อกระจายประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยวงเล็กในลำดับต่อไป
แต่ปัญหาใหม่ที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ก็คือ การขอเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่นับหน่วยงานรัฐเองที่ยังมีความไม่เป็นเอกภาพให้เห็น โดยเฉพาะระหว่าง สมช. กับกองทัพ
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 26 มี.ค. กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรียกร้องให้กระบวนการพูดคุยเจรจามีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน หลังจากจัดสัมนารับฟังความคิดเห็นเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพดูจะยังไม่สะท้อน "วาระของประชาชน" เท่าที่ควร
ขณะที่ "สภาประชาสังคมชายแดนใต้" ซึ่งเป็นดั่ง "องค์กรร่ม" ขององค์กรภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งในพื้นที่ ก็มีมติเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ไม่ส่งคนเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน 15 คนเพื่อไปพุดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค. ด้วยเหตุผลเกรงจะสูญเสียความเป็นกลาง
แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่ามีชื่อของบุคคลและองค์กรที่พร้อมเข้าร่วมเป็นคณะทำงานมากถึง 200 ชื่อ ฉะนั้นแม้บางคนหรือบางองค์กรไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุยวันที่ 28 มี.ค. ก็อาจสลับสับเปลี่ยนไปเป็นคณะทำงานในครั้งต่อๆ ไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งประเด็นพูดคุยกลุ่มย่อย ก็ต้องจัดคนไปพูดคุยตามความถนัดและความสามารถในเรื่องนั้นๆ
ขณะเดียวกันข่าวความขัดแย้ง แย่งชิง ผลักดัน และล็อบบี้กันของบุคคลและองค์กรต่างๆ เพื่อเข้าไปมีชื่อในคณะทำงาน 15 คนก็หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการพยายามชูประเด็นที่เป็นจุดยืนหรือข้อเรียกร้องเฉพาะกลุ่ม เช่น เขตปกครองพิเศษ นครรัฐปัตตานี หรือการพยายามสอดไส้วาระที่เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มตนเพื่อไม่ให้ตกขบวนเจรจา ก็มีข่าวมาเป็นระยะๆ เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือจุดอ่อนและอาจนำมาซึ่งปัญหาของการนำประเด็น "พูดคุยสันติภาพ" ขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะและเปิดสู่สาธารณะก่อนเวลาอันควร จนเกิดอาการมะรุมมะตุ้มจนฝุ่นตลบ ซึ่งเป็นประเด็นที่อดีตเลขาธิการ สมช.อย่าง นายถวิล เปลี่ยนศรี เคยเตือนเอาไว้...
และจะกลายเป็นโจทย์ข้อยากของคณะเจรจาที่นำโดย พล.ท.ภราดร เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบัน ต้องคลายปมกันต่อไป!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายผ้าที่มีข้อความเกี่ยวกับ "นครรัฐปัตตานี" ซึ่งถูกมือมืดนำไปติดในหลายพื้นที่ของ จ.ปัตตานี และนราธิวาส ท่ามกลางความสับสนและการเคลื่อนไหวหลายๆ ด้านช่วงก่อนเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
ขอบคุณ : ทีมกู้ชีพสันติปัตตานี เอื้อเฟื้อภาพ
หมายเหตุ : บางส่วนของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในสื่อเครือเนชั่นด้วย