ส.ว.รุมจวก กู้ 2 ล้านล้านชาตินี้ ใช้คืนชาติหน้า จี้สังคมร่วมพิจารณา
กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เสนอแหล่งที่มาของเงินกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท ควรมาจากการระดมทุนภายในประเทศ พร้อมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียและ รอบด้านก่อน
วันที่ 26 มีนาคม ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ซึ่งมีนายอนุรักษ์ นิยมเวช เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศโดยเชิญรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนงานการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปว่า แหล่งที่มาของเงินกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท ควรมาจากการระดมทุนภายในประเทศ เช่น การออกพันธบัตร เป็นต้น
ในส่วนของนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการนั้น ควรพิจารณาให้การตั้งงบประมาณมีความยืดหยุ่น เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ที่อาจกระทบต่อชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งต้องดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 ที่ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียและ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ หรือโครงการอาจไม่ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นการเบิกจ่ายวงเงินจะไม่เกิดขึ้นจะส่งผลให้กลายเป็นต้นทุน
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หากการกู้เงินของรัฐบาลเป็นผลดีต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย คงไม่มีใครคัดค้าน แต่เหตุใดต้องลงทุนพร้อมกันทีเดียวแล้วสร้างหนี้สินให้ประเทศระยะยาว 50 ปี จนส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถลงทุนอะไรได้อีกในอนาคตนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มหรือไม่ โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงนั้น หากเทียบกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอส) แล้วจะเป็นการลงทุนที่คุ้มกันหรือไม่ รวมทั้งเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทางรวมกัน 1,400 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นเมื่อหารเป็นกิโลเมตรแล้วถือว่าเป็นการลงทุนที่แพงมหาศาลจะเข้าตามทฤษฎีสองสูงหรือไม่
"บริษัทที่จะขายรถไฟความเร็วสูงให้กับประเทศไทยเป็นบริษัทจากประเทศจีนแน่นอน นอกจากนี้ราคารถไฟความเร็วสูงที่ประเทศจีนขายให้ราคา 1.6 ล้านล้านบาท แต่ราคาจริงถึง 5 แสนล้านหรือไม่ ตนจึงอยากฝากถามไปยังรัฐบาลว่าทำไมไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงทำในระยะ 7 ปี ทั้งที่ในแผนงบประมาณก็สามารถทำได้ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เพราะใน พ.ร.บ.ยังมีวาระอื่นซ่อนไว้อีก อาทิงบประมาณสำหรับพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ และการพัฒนาด้านอื่นๆ ใช้งบประมาณอีก 2 ล้านล้านบาท โดยเบ็ดเสร็จจะมีการกู้เงินถึง 4 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 3 - 4 ล้านล้านบาท ทำให้อีก 50 ปี ประเทศไทยก็ยังใช้หนี้ไม่หมด ดังนั้นตนจึงขอฝากไปยังสมาชิกรัฐสภาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกู้เงินดังกล่าวรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการกู้เงินด้วย"
ส่วนนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ผลจากการกู้เงินครั้งนี้รวมต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 50ปี จะเป็นเงิน 5.16 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยจะเป็นชาติเดียวในโลกที่กู้เงินจำนวนเท่ากับวงเงินงบประมาณของแผ่นดินทั้งปี
พร้อมกันนี้ นายประสารยังกล่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลออกมาระบุว่าจะใช้เงินปีละ 3แสนล้านบาทเหตุใดจึงต้องมีการกู้เงินสูงถึง2 ล้านล้านบาท เอกสารการกู้เงินมี 19 มาตรามีแนบท้ายเอกสารอีกประมาณ 4– 5หน้า แต่ปรากฏว่าไม่มียุทธศาสตร์ มีเพียงโครงการที่ไม่มีแผนงานการดำเนินการที่ชัดเจน ดังนั้นการกู้เงินครั้งนี้จึงไม่ใช่การกู้เงินในลักษณะ NPL แต่เป็นการกู้เงินในรูปแบบ NLP หรือ การกู้เงินในชาตินี้แต่ไปใช้คืนในชาติหน้า จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ว่า ฝ่ายค้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือ การกู้เงินจำนวนมหาศาลและมีภาระหนี้รวมดอกเบี้ยถึง 5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เห็นว่า การกู้เงินลักษณะนี้จะสร้างภาระผูกพันหนี้ระยะยาวให้กับประเทศ ประชาชน และรัฐบาลที่มารับหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าการกู้ครั้งนี้จะเป็นการกู้เพื่อโกงและหาผลประโยชน์ก่อนที่รัฐบาลจะจากไปและสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศและคนไทย
อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ว. จะยื่นเรื่องไม่เห็นด้วยกรณีรัฐบาลเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของรัฐบาลพร้อมให้คำชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็น
ซึ่งก่อนหน้านี้ ร้อยโทหญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงถึงโครงการต่างๆ ใน ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีการระบุเส้นทางของโครงการที่ชัดเจนโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง และระบุถึงเส้นทางที่จะดำเนินการ อาทิ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-โคราช – หนองคาย กรุงเทพ-หัวหิน – ปาร์ดังเบซาร์ โดยเส้นทางทั้งหมดจะเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้
"โครงการจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางแต่อย่างใด และไม่มีนโยบายที่จะนำเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไปใช้ทำถนนที่มีลักษณะเส้นเลือดฝอย หรือถนนสายเล็ก สายน้อย แต่การใช้เงินงบประมาณในโครงการนี้ จะนำไปสร้างถนนสายหลักที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค หรือเชื่อมโยงด่านศุลกากรประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 41 ด่าน โดยถนนสายย่อยจะใช้เงินจากงบประมาณปกติของกระทรวงคมนาคมก่อสร้าง"