กษ. เข้มบังคับรื้อเครื่องมือประมงพื้นบ้าน 'โพงพาง' 11 จว. – รับปากเยียวยา
กระทรวงเกษตรฯ สั่งเข้มห้ามใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ‘โพงพาง’ 11 จว. หลังระงับใช้ได้แล้ว 66 จว. ชี้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำตามรอยอวนลาก อวนรุน มอบกรมประมงส่งเสริมอาชีพ-จ่ายค่าชดเชย
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านการประมงว่า เครื่องมือโพงพางเป็นเครื่องมือการทำประมงที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิดและขนาด เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังขวางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ ตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานในการขยายพันธุ์ และกีดขวางการสัญจรทางน้ำ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการทำประมงของเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย การทำประมงโพงพางจึงก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการนำสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ก่อนถึงขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์อย่างมาก ซึ่งหากปล่อยให้สัตว์น้ำเติบโตได้จนถึงขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ จะทำให้สัตว์น้ำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 144,000 บาท/ปี ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้กำหนดห้ามเครื่องมือประมงประเภทที่จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด ขนาด และทำลายระบบนิเวศพื้นท้องทะเลอย่างร้ายแรงในการทำประมง เช่น เครื่องมือโพงพาง อวนรุน อวนลาก คราดหอย เป็นต้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้มีใช้ได้อย่างยั่งยืน
นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 รวมระยะเวลากว่า 65 ปี สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้แล้วทั้งสิ้น 66 จังหวัด และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนอีก 11 จังหวัด ซึ่งในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้ มีมติเห็นควรให้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับจังหวัดที่เหลือทั้งหมดโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กรมประมงหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ใช้เครื่องมือโพงพาง เช่น การจ่ายค่าชดเชย การพัฒนาส่งเสริมอาชีพ หรือการให้ความรู้และสนับสนุนในเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายประเภทอื่นด้วย ซึ่ง การทำความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงต่างๆ นั้น กรมประมงได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นประจำทุกปี
“สาเหตุที่ต้องยกเลิกเครื่องมือโพงพางนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก สำหรับ การเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ที่ใช้เครื่องมือโพงพางจากการบังคับใช้กฎหมายจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งต้องพิจารณาในการดูแลเยียวยาอย่างรอบด้าน ในปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้จังหวัดใดที่มีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยในขณะเดียวกันก็จะสรุปรายงานเรื่องการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกเครื่องมือโพงพางนี้ส่งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติรับทราบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมายต่อไป” นายศิริวัฒน์กล่าว
ที่มาภาพ ::: http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1555