หวั่นเสียเปรียบธุรกิจเกษตรไทยในอาเซียน - ชงตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์
เกาะสถานการณ์ธุรกิจเกษตรไทยในปท.อาเซียน หวั่นเสียเปรียบเพื่อนบ้าน เตรียมคุมเข้มมาตรฐาน มกอช. เกษตรกรรายย่อยวอนตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์-กระจายที่ดิน สู้เออีซี
วันที่ 25 มี.ค. 56 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายยุคล ลิ้ม แหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘ก้าวไกล ก้าวไป ขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่อาเซียน’ โดยกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘เกษตรกรทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้า’ ว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งจะมีการเปิดการค้าเสรีในอีกสองปีข้างหน้านั้น ในส่วนของภาคเกษตรไทยขณะนี้ยังไม่มีความน่าเป็นห่วงเท่าใดนัก เนื่องจากภาคเกษตรไทยมีความพร้อมและเข้มแข็งค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าว มัน สำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เข้าไปลงทุนด้านการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯต้องมีการติดตามสถานการณ์และหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อดูว่าการลงทุนนอกประเทศจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทยมากน้อยเพียงใด และไทยจะแนวทางรักษาสถานะความเป็นผู้นำด้านการเกษตรในภูมิภาคต่อไปได้หรือไม่
สำหรับเกษตรกร มาตรการที่สำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งพัฒนาและส่งเสริมเพื่อรองรับเออีซี คือ การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้า เกษตรและอาหาร (มกอช.) ได้ประกาศใช้แล้วกว่า 200 ชนิด ซึ่งขณะนี้โดยส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งปฏิบัติเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าส่งออกเท่านั้น โดยในอนาคตข้างหน้าเมื่อเข้าสู่เออีซีแล้วหากไทยยังไม่บังคับใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรที่ชัดเจน นอกจากจะทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบในแง่การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ผู้บริโภคในประเทศก็จะได้บริโภคสินค้าคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐานซึ่งไหลเข้ามาจากประเทศพื้นบ้าน และตัดราคาสินค้าเกษตรในประเทศด้วย
ดังนั้นต่อจากนี้ไป กระทรวงเกษตรฯจะขยายผลการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรจากสมัครใจไปสู่มาตรฐานบังคับให้ได้เพื่อป้องกันผลกระทบและเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขันเมื่อเข้าสู่เออีซี
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้อาจมีการผลักดันให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์กลุ่มสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ เช่น กลุ่มสินค้าข้าว และพืชไร่อื่น ๆ กลุ่มสินค้ามันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน กลุ่มสินค้าประมง กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ฯลฯ เพื่อให้สภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับรัฐบาลในการกำหนดทิศทางการบริหารและส่งเสริมการผลิตสินค้าแต่ละชนิดรองรับการแข่งขันในตลาดอาเซียน
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้จัดการสำนักงานความร่วมมือทางการเกษตรกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง อดีตเจ้าหน้าที่เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า หลายประเทศอาเซียนขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซีย มีการจัดคณะทำงานเพื่อประสานงานกับประเทศคู่ค้า, ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เน้นส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ การลงทุนสาธารณูปโภคการเกษตรพื้นฐาน เช่น โรงสีข้าว ส่วนประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และไทยซึ่งมีภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้วมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเช่นกัน
โดยเสนอให้ประเทศไทยจัดตั้งคณะทำงานโดยดึงผู้ประกอบการและเกษตรกรเข้ามาร่วมให้ความคิดเห็นกับภาครัฐ เพื่อติดตามนโยบาย แผนยุทธศาสตร์การก้าวสู่เออีซีของประเทศเพื่อนบ้าน การค้าการลงทุนสินค้าเกษตรภายในภูมิภาคอาเซียนและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งวางแผนการเจรจาต่อรองกับประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันด้วย
ด้านนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายการเกษตรของทุกรัฐบาลพบว่า การพัฒนาภาคการเกษตรของรัฐมีนโยบายไม่ชัดเจนและเน้นเพียงการส่งเสริมการผลิตที่ต้นน้ำ ซึ่งเมื่อผลิตมากเกษตรกรก็ขายสินค้าได้ในราคาต่ำ โดยมีกลางน้ำคือพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ขณะที่ปลายน้ำคือผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าราคาแพง ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรเข้ามาบริหารจัดการภาคเกษตรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยุติธรรมก่อน
โดยมีความเป็นห่วงว่าเมื่อเข้าสู่เออีซี เกษตรกรรายย่อยจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากปัญหาการขาดที่ดินทำกิน ซึ่งการถือครองที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือกลุ่มทุน จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งกระจายการถือครองที่ดิน โดยอาจออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินด้วย โดยเห็นว่าแม้ว่าเกษตรกรจะพยายามพึ่งพาตนด้วยการรวมกลุ่ม จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น แต่หากนโยบายรัฐไม่ส่งเสริม การก้าวสู่เออีซีของเกษตรกรรายย่อยคงเป็นไปด้วยความลำบาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการสัมมนา ยังมีข้อเสนอจากกลุ่มเกษตรกรให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง รวมทั้งเป็นการรณรงค์และชักชวนเกษตรกรอื่นๆให้หันมาผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เพื่อรองรับตลาดอาเซียนซึ่งมีแนวโน้มต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพสูงด้วย .