ถอดบทเรียน "เจรจา" ยุครัฐบาล ปชป. มองผ่าน "วิกิลีกส์" และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังตื่นเต้นและตั้งความหวังกับ "การพูดคุยเจรจา" รอบใหม่กับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเปิดมิติใหม่ด้วยการยกระดับการพูดคุยขึ้นมาเปิดเผยกันจะๆ ผ่านสื่อทุกแขนงนั้น
อีกด้านหนึ่งยังมีความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ นี่ไม่ใช่การพูดคุยเจรจาครั้งแรกระหว่างฝ่ายความมั่นคงหรือตัวแทนรัฐบาลไทย กับผู้แทนของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการพูดคุยเจรจากันมานับครั้งไม่ถ้วน เพียงแต่กระทำกันลับๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่า "ใต้โต๊ะ" มิใช่ "บนโต๊ะ" แบบที่กำลังทำกันอยู่นี้
หากตัดประเด็น "บนโต๊ะ-ใต้โต๊ะ" ออกไป การพูดคุยเจรจาที่ผ่านๆ มาก็นับว่าน่าศึกษาไม่น้อย โดยเฉพาะในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะพรรคการเมืองที่เชื่อกันว่ารู้ปัญหาภาคใต้ดีที่สุด
ที่สำคัญยังมีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่เฉพาะบุคคลที่ร่วมอยู่ในวงพูดคุยเจรจาเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลจากมุมมองของต่างประเทศผ่านการเปิดโปงของ "วิกิลีกส์" เจ้าของฉายา "เว็บไซต์จอมแฉ" อีกด้วย
ปูด "พูโล-บีอาร์เอ็น" อึดอัดบทบาทมาเลย์
เว็บไซต์วิกิลีกส์ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยกับแกนนำกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งดำเนินการในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้การอำนวยความสะดวกขององค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง และมีอดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยรายหนึ่งเป็นผู้ประสานงาน
ทั้งนี้ การพูดคุยทำกันอย่างลับๆ ในช่วงเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค.2552 ก่อนที่ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 8-9 ธ.ค.2552
วิกิลีกส์ อ้างข้อมูลว่า สถานทูตประเทศมหาอำนาจในไทยได้พูดคุยกับทั้งผู้แทนรัฐบาลไทยและองค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ ได้รับการยืนยันว่าแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งพูโลและบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมพูดคุยรู้สึกไม่สบายใจต่อท่าทีของทางการมาเลเซียที่กดดันกลุ่มขบวนการอย่างหนักตลอดมา เพราะต้องการให้มาเลเซียมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพของไทยมากยิ่งขึ้น
ชี้ "เสือเหลือง" ไม่จริงใจช่วยไทยดับไฟใต้
ผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยดังกล่าว ให้ข้อมูลด้วยว่า มาเลเซียไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งยังพยายามเล่นบท "ผู้ชนะ" ด้วยการแสดงตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่อยากเห็นปัญหาได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะในไทยหรือฟิลิปปินส์ (กรณีมินดาเนา) ก็ตาม เพราะปัญหาความไม่สงบทำให้ประเทศเหล่านั้นไม่มีดุลยภาพ
วิกิลีกส์ ระบุด้วยว่า การพูดคุยในห้วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องไปจัดเวทีพูดคุยในสองประเทศดังกล่าวเป็นไปตามการร้องขอของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเอง เพื่อลดแรงกดดันและการคุกคามจากทางการมาเลเซีย
"ไกรศักดิ์" ห่วง สมช.ถลำลึก-เตือนอย่าไว้ใจมาเลย์
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและพูโล กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำให้การลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องเอิกเกริกขนาดนี้ (กรณีลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.) กลายเป็นว่าการพูดคุยถูกยกระดับเป็นเรื่องทางการไปแล้ว ซ้ำยังกระโดดไปลงนามกันที่มาเลเซีย ทั้งๆ ที่มาเลเซียยังไม่เคยแสดงความจริงใจอะไรเลยว่าต้องการช่วยไทยจริง
"การพูดคุยกันทุกครั้ง คนในขบวนการตำหนิมาเลเซียให้ฟังตลอด เขาไม่ไว้วางใจมาเลเซีย มีการแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ ถึงขั้นสร้างบีอาร์เอ็นปลอมขึ้นมาก็มี แต่นี่รัฐบาลไปกระโดดให้มาเลเซียทำทุกเรื่อง" นายไกรศักดิ์ ระบุ
เขายังอธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ไว้วางใจมาเลเซียก็คือ ที่ผ่านมาทางการมาเลเซียจับกุมคนในขบวนการส่งให้ทางการไทยหลายครั้ง บางครั้งมีข้อตกลงเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางคดี แต่พอส่งกลับมาจริงๆ กลับถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต อย่างกรณีของนายดาโอ๊ะ และนายสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล
จี้ดึง"ทีมถวิล"กลับมา-ห่วงไทยถูกหลอก
นายไกรศักดิ์ ยังเสนอให้รัฐบาลลดการโฆษณาเรื่องการพูดคุยสันติภาพลง จนกว่ากระบวนการดำเนินไปใกล้จะสำเร็จ และให้ดึงคนที่มีประสบการณ์กลับมาทำงาน โดยเฉพาะ นายถวิล เปลี่ยนศรี กับ นายสมเกียรติ บุญชู อดีตเลขาธิการและรองเลขาธิการ สมช. เพราะการพูดคุยต้องใช้ความเชื่อมั่นเชื่อใจ สองคนนี้ทำงานมาตลอด และรู้จักคนในขบวนการเป็นอย่างดี หากนำคณะใหม่ไปพูดคุยจะได้รับความเชื่อใจได้อย่างไร และจะถูกหลอกได้ง่ายๆ
ส่วนการทำงานหลังจากนี้ต้องทำพร้อมกันหลายระดับ โดยเฉพาะงานด้านสิทธิมนุษยชน การให้ความเป็นธรรม มิฉะนั้นกระบวนการพูดคุยเจรจาจะไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย
นายไกรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กระบวนการพูดคุยในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ดำเนินการในทางลับ และได้ตัดประเด็นการปกครองตนเอง หรือ autonomy ออกไปเป็นลำดับแรก คือถ้าใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาจะไม่มีการพูดคุย ทั้งนี้การเจรจาและประเด็นการปกครองแบบพิเศษเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะอ่อนไหวเกินกว่าที่จะนำมาใช้หาเครดิตทางการเมือง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กับหน้าเว็บไซต์วิกิลีกส์
หมายเหตุ : ทั้งสองภาพมีที่มาจากคนละแหล่ง แต่ใช้เทคนิครวมภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา