แนะรัฐตั้งทีมประเมินถกบีอาร์เอ็น - เคลียร์ปมเหตุร้ายหลังเปิดเจรจา
28 มี.ค.ที่จะถึงนี้ นับเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากจะเป็นวันนัดพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างผู้แทนฝ่ายความมั่นคงไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้แทนกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
การเปิดวงพูดคุยกันดังกล่าวจะมีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" โดยผู้ร่วมกระบวนการพูดคุยจะเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 15 คน
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันนัดพูดคุยสันติภาพ พล.ท.ภราดร ได้เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ นำโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัย 5 แห่งในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมีผู้แทนจากภาคประชาสังคม นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมรับฟังและแสดงทัศนะอย่างคับคั่ง งานจัดขึ้นที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา
รศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การเตรียมสภาพแวดล้อมก่อนการพูดคุยเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และฝ่ายรัฐสามารถทำได้เองทันที เช่น หยุดการปิดล้อมตรวจค้น ยุติการละเมิดทุกรูปแบบ หรือเลิกรายชื่อบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงตอบโต้ เชื่อว่าถ้าทำได้บรรยากาศในพื้นที่น่าจะดีขึ้น
"แน่นอนว่าในฝ่ายก่อการ เราไม่สามารถห้ามเขาไม่ให้ก่อเหตุรุนแรงได้ แต่เราห้ามฝ่ายรัฐเพื่อหยุดการละเมิดก่อนได้ เพื่อสร้างความชัดเจนและแสดงความจริงใจของรัฐในการร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ" รศ.ดร.ชิดชนก กล่าว ส่วนผู้ที่จะร่วมเป็นคณะทำงาน 15 คนไปร่วมพูดคุยสันติภาพนั้น น่าจะมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่กลางของสังคม
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่ต้องมีการลดเงื่อนไขทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อลดความขัดแย้ง ที่สำคัญอยากให้มองในเรื่องที่เป็นไปได้ ที่สามารถคุยกันได้จริงๆ ส่วนเรื่องที่ไกลเกินความจริงและยังเป็นความฝันก็อย่าไปคิดให้ปวดหัว
ดร.อิสมาอิลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า รัฐต้องสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐว่าต้องการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี
ขณะเดียวกันก็ควรให้มีองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน ดำเนินภารกิจวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลกระบวนการพูดคุยสันติภาพในระยะต่อไปด้วย
สอดรับกับความเห็นของผู้นำศาสนา นายอับดุลรอซัค อาลี อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ต้องมีเวทีทำความเข้าใจกับประชาชน เช่น ในมัสยิด และควรส่งเอกสารไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือลดเงื่อนไข เลิกมองประชาชนเป็นจำเลย
นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า อยากให้เลขาธิการ ศอ.บต. และผู้ว่าราชการจังหวัดส่งหนังสือแจ้งไปยังมัสยิดทุกแห่งให้รับทราบว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่
ขณะที่ นายอาซิ กะโด หัวหน้าสำนักงานเลขานุการสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) กล่าวว่า ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพื่อชี้ให้ชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะหลังจากเริ่มกระบวนการพูดคุยแล้ว จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตามมาแน่ ประสบการณ์จากต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้
นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐจะทำอะไร ขอให้มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสงบในพื้นที่ แต่คำถามคือรัฐไทยพร้อมหรือยังที่จะไปเจรจา พร้อมที่จะให้ตามที่ฝ่ายขบวนการขอมาหรือเปล่า ถ้าไปพูดคุยแล้วเกิดขอให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ รัฐจะถอนหรือไม่ ฉะนั้นอยากให้รัฐมีความพร้อมและเป็นเอกภาพก่อน
นายอับดุลอซิซ ตาเดร์อิน เลขาธิการยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น่าจะเปิดพื้นที่พูดคุยกับฝ่ายค้านด้วย เพราะเป็นเสียงใหญ่ที่สุดที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ น่าจะถามว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เพราะอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางกระบวนการ กำลังเป็นศึกใน ไม่ใช่ศึกนอก
นายมะรุฟ แจะบือราเฮง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ประชาชนต้องมีส่วนรับรู้ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าสันติภาพไม่เกิดขึ้นในสนามรบหรือการใช้อาวุธ แต่เกิดได้บนโต๊ะเจรจา ขอให้ทุกคนลดความเป็นไทยให้น้อยลง ลดความเป็นมลายูให้น้อยลง แต่เพิ่มความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า มีคนอีก 4 กลุ่มที่ควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเปิดการพูดคุยกับพวกเขาด้วย คือ 1.กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐที่ต้องทิ้งเด็กและผู้หญิงอยู่บ้านเพียงลำพัง 2.กลุ่มที่มีหมายจับ ตอนนี้มีอยู่ราว 1,700 คน แต่มีรายชื่อซ้ำซ้อนประมาณ 1,000 คน ควรพูดคุยให้เลิกใช้วิธีรุนแรง แล้วหันมาใช้สันติวิธี 3.คนที่อยู่ในเรือนจำเพราะถูกดำเนินคดีความมั่นคง มีอยู่ราวๆ 300 คน และ 4.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่รัฐไม่เคยไปดูแล
ภายหลังการประชุม พล.ท.ภราดร สรุปว่า จะนำความเห็นทั้งหมดไปดำเนินการ ส่วนรายชื่อคณะทำงาน 15 คนนั้น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรปิดเป็นความลับ เพื่อความปลอดภัย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-4 บรรยากาศการประชุมระดมความคิดเห็นที่ ศอ.บต. (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)