32 อาชีพท่องเที่ยว รุดหน้าสร้างมาตรฐานร่วมระหว่างอาเซียนแล้ว
วันที่ 25 มีนาคม มูลนิธิรักษ์ไทย จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารมวลชน เรื่อง ประชาคมอาเซียนและความพร้อมของประเทศไทยในการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก โดยดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือใน 7 วิชาชีพ บวก 32 อาชีพในกลุ่มการท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันนี้แต่ละประเทศจะมีระดับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแตกต่างกัน โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ ก็ยังไม่มีความสอดคล้องกันในแต่ละประเทศด้วย
“ยกตัวอย่าง วิศวกรชาติอื่นจะมาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ ก็จะต้องร่วมงานกับวิศวกรไทยที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และหากจะประกอบวิชาชีพอย่างต่ำต้องได้รับการประเมินจากสภาวิชาชีพ คือ วิศวกรรมสถานฯ ซึ่งทุกอาชีพ ไม่ว่า พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ จะมีลักษณะคล้ายกันคือ ต้องสอบเป็นภาษาไทย”
สำหรับการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ใน 7 สาขา คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี ให้การสอบใบอนุญาตในแต่ละวิชาชีพเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อความเป็นสากลนั้น ผอ.วิจัยและพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบอาชีพชาวอาเซียน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ (Domestic Laws) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสอบใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาไทย เชื่อว่า ต้องใช้เวลานาน อีกทั้ง ไม่แน่ใจว่า เมื่อผ่านพ้นปี 2558 ไปแล้วจะมีการแก้ไขกฎหมายกันหรือไม่
“ขณะที่ในกลุ่มอาชีพท่องเที่ยว 32 อาชีพ เช่น แผนกต้อนรับ แม่บ้าน อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจนำเที่ยว กลับมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว มีการยกร่าง ASEAN Framework กันแล้วระดับหนึ่ง มีการออกคู่มือแต่ละอาชีพ เช่น คุณสมบัติต้องมีความรู้อะไร มีทักษะอะไร ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีการตกลงร่างระหว่างชาติอาเซียน" ดร.ยงยุทธ กล่าว และว่า แต่ในส่วนของไทยใน 32 อาชีพท่องเที่ยว กำลังมะรุมมะตุ้มกันอยู่ ว่า ใครจะเป็นหน่วยงานที่ดูแล ระหว่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ National Qualifications Framework ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 สังกัดสภาการศึกษา ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีศูนย์กลางการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพระหว่างโลกของงานและโลกของการศึกษา”
ทั้งนี้ ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สินค้า บริการ หรือคนจะเคลื่อนย้ายเสรีระหว่างอาเซียน จำเป็นต้องมีมาตรฐาน ดังนั้น การตั้ง National Qualifications Framework ขึ้นมา จึงมีความสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องไปเชื่อมโยงกับ ASEAN Qualifications Framework :AQF เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ทุกชาติยอมรับมาตรฐานร่วมกันด้วย