จี้ยุติเจรจาแร่ใยหินในเวทีการค้าไทย-รัสเซีย ‘ผู้ป่วยจากงาน’ค้านสถานทูต 26มี.ค.
‘เครือข่ายเลิกแร่ใยหิน’ ร้องยุติเจรจาไครโซไทล์ในเวทีการค้าไทย-รัสเซีย เร่งอุตฯห้ามใช้ตามมติ ครม. ย้ำเสี่ยงมะเร็ง ระบุบริษัทกระเบื้องยักษ์ยังดึงดันไม่เลิก ‘ผู้ป่วยจากงาน’ยื่นหนังสือค้านสถานทูตรัสเซีย 26มี.ค.
วันที่ 25 มี.ค. 56 เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ออกแถลงการณ์เรียกร้องไม่ให้มีประเด็นแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย ณ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยแถลงการณ์ ระบุว่า วันที่ 27-29 มี.ค. 56 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปเจรจาการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย ซึ่งจะมีการหยิบยกประเด็นแร่ใยหินไครโซไทล์มาเป็นหนึ่งในหัวข้อการเจรจา ประกอบกับแรงกดดันทางการเมืองที่จะไม่หยุดการนำเข้ามาโดยตลอด ทั้งที่ทราบดีว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานและประชาชน ประกอบกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อ 12 เม.ย.54 เห็นชอบมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบรวมถึงห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ชนิดดังกล่าว
ดังนั้น จึงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการดังนี้ 1.ต้องไม่ให้มีการกำหนดประเด็นแร่ใยหินไครโซไทล์ในหัวข้อการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 2.เร่งรัดให้ปฏิบัติตามมติครม. โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งแผนการยกเลิกแร่ใยหิน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และให้กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการในการป้องกันผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินไครโซไทล์โดยด่วนที่สุด
ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยหลายประเทศมีข้อมูลยืนยันว่าแร่ใยหินไครโซไทล์มีสารก่อมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้มีการยกเลิกการผลิตและนำเข้าแร่ชนิดดังกล่าว แต่ไทยยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทั้งที่มีมติออกมาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่มักนิยมนำมาผลิตกระเบื้อง เพราะมีคุณสมบัติ คงทน แข็งแรง อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารทดแทนเรื่องความแข็งแรงและมีอันตรายที่น้อยกว่า ทำให้บริษัทกระเบื้องรายใหญ่หลายแห่งได้มีการยกเลิกการใช้แร่ชนิดดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีบริษัทเดียวที่มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 20% ยังผลิตและนำเข้าอยู่
“ประเทศที่ยกเลิกคือประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนประเทศที่ยังไม่ยกเลิกคือประเทศที่เจริญน้อย และยิ่งมีประเทศที่ยกเลิกมากเท่าไหร่ จะเหลือประเทศที่ให้บริษัทดังกล่าวขายผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินไครโซไทล์ให้ประเทศเหล่านี้น้อยลงเรื่อย ๆ จึงต้องหาวิธีการยืดเวลาไม่ให้มีการยกเลิกในประเทศคู่ค้าให้ยาวนานที่สุด เพื่อยังคงส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจากอดีตมีคู่ค้าอยู่ 3 ประเทศ คือ รัสเซีย แคนาดา และทาจิกิสถาน แต่ปัจจุบันแคนาดาได้ยอมถอยไม่มีการผลิตและส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์แล้ว”
เมื่อถามว่าบริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด มีท่าทีอย่างไรต่อการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวยังมีการผลิตและนำเข้าอยู่ โดยล่าสุดทราบว่าได้มีการซื้อหุ้นเหมืองแร่ใยหินในต่างประเทศ เพื่อสามารถดำเนินการตลาดได้ครบวงจร แต่อย่างไรก็ตามมองว่าหากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จะเป็นนายทุน แต่ผลเสียจะตกสู่ประชาชนและแรงงานที่มีการศึกษาน้อย ขาดระบบการป้องกันตนเองที่ดี ทั้งนี้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเลิกอ้างการยกเลิกแร่ใยหินได้นั้น จะต้องมีตัวเลขคนไข้จำนวนมาก เพราะนั่นเป็นวิธีคิดของประเทศด้อยพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (26 มี.ค. 56) 10.00 น.สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจะเข้ายื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีรัสเซียผ่านเอกอัครราชฑูตรัสเซียประจำประเทศไทย เพื่อยุติการเจรจาเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์ในเวทีการเจรจาการค้าไทยกับรัสเซีย .