เอ็นจีโอ ยันเจรจาเอฟทีเอ นโยบายสาธารณะประชาชนต้องมีส่วนร่วม
ผู้ประสานงาน FTA Watch เชื่อกระบวนการเปิดพื้นที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ทำให้กระบวนการเจรจาการค้า เสียเวลา ยืดยาดแต่อย่างใด เพียงหวังการจัดทำข้อตกลง มีความรอบคอบ โปร่งใส คนไทยได้ประโยชน์สูงสุด
วันที่ 24 มีนาคม กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch จัดเวทีเสวนา ตอนที่ 1 : การเจรจาเอฟทีเอ ...นโยบายสาธารณะที่ประชาชนต้องมาส่วนร่วม ณ ชั้น 1 หอศิลปฯ กรุงเทพฯ โดยมีนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงาน FTA Watch รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬา และนายอธึกกิต แสงสุข หรือใบตองแห้ง ร่วมเวทีเสวนา
นายจักรชัย กล่าวถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อำนาจการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ ทั้งการริเริ่ม การเจรจา และการบังคับใช้ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณี บางข้อตกลงที่ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงการค้าที่มีผลให้เกิดการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ หรือมีผลกระทบต่อเขตแดน เป็นต้น
“แต่ที่ผ่านมาเรื่องการค้าระหว่างประเทศ จะเห็นว่า ไม่เคยมีพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นเดียวกับบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติที่คิดว่าจะมาคอยตรวจสอบถ่วงดุล ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการขับเคลื่อนของ FTA Watch ไม่เฉพาะเจาะในเรื่องของเนื้อหาสาระของการเจรจาเท่านั้น แต่เราต้องการนำเสนอ นี่คือหนึ่งในนโยบายสาธารณะที่ประชาชนควรเข้าไปมีพื้นที่ ”
สำหรับกระบวนการเปิดพื้นที่ นายจักรชัย กล่าวว่า มีผลเชิงบวก และไม่ได้ทำให้กระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสียเวลา หรือยืดยาดแต่อย่างใด การขับเคลื่อนประเด็นการเจรจาการค้าเสรีนั้น ภาคประชาชนไม่ได้ต้องการจ้องล้มรัฐบาล แต่ต้องการให้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมีการเจรจากันอย่างรอบคอบ โปร่งใส ขณะที่ข้อมูลการเจรจา อย่างกรณี เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ก็ขอให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วย
ด้านนายอธึกกิต กล่าวว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ผูกขาด รวบอำนาจ จนทำให้ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือต่อรองอะไรได้มาก แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะกำหนดให้มีกระบวนการประชาพิจารณ์ เปิดพื้นที่แล้วก็ตาม แต่ก็ทำกันหลอกๆ ฉะนั้น จะทำอย่างไรนโยบายสาธารณะ เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ที่นอกเหนืออาศัยเสียงข้างน้อยในการเคลื่อนไหว ต่อรอง เสนอเหตุผล
ขณะที่รศ.ประภาส กล่าวว่า ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบได้ อยู่ในกระแสหลักในรัฐธรรมนูญ 2540 และถือเรื่องใหญ่ของสังคมไทยตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา สำหรับการเจรจาการค้า เอาเข้าจริงก็เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ แต่ผลกระทบอาจกว้างกว่าการแก้ไขปัญหาคนจน ฉะนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย สร้างพื้นที่การเมืองที่เห็นหัวคนจน
“การเจรจากรค้า เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวนทำไร่ เกี่ยวกับปากท้อง กระทบคนเล็กคนน้อย ที่ไม่มีโอกาสได้เจรจา”
ทั้งนี้ ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้เรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี และนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ให้คำมั่นสัญญาประชาคม 1 ใน 5 ข้อ ขอให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วน ก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของการเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล