ปมขัดแย้งผังเมืองใหม่-ปัญหาเก่า : อุตสาหกรรมรุกเกษตร-ชุมชน
จับตาการใช้ประโยชน์พื้นที่แผ่นดินไทย ท่ามกลางข้อวิจารณ์ถึงผังประเทศ 2600 – ผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ ว่าจะนำพาไทยสู่อุตสาหกรรมที่ลืมฐานรากเกษตร-กระทบสิทธิชุมชน หรือไม่? อย่างไร?
รู้จักผังประเทศพ.ศ.2600 วางแผนที่ดินไทยล่วงหน้า 50 ปีเป็นเมืองอุตสาหกรรม?
ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600 จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรี 9 ก.ค.2545 เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ล่วงหน้าไปกว่า 50 ปี โดยระบุว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดและชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางการวางผังเมืองในระดับย่อยลงไป ซึ่งมีเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้ผังประเทศ 2600 จะเป็นเพียงกรอบนโยบาย แต่โดยแท้จริงกลับมีส่วนกำหนดแผนโครงการพัฒนาต่างๆเสมือนเป็นกฎหมาย นำมาสู่ข้อวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการนำมาใช้ เนื่องจากมีแนวโน้มสนับสนุนการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร โดยมีประเด็นสำคัญคือผังดังกล่าวไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ นักวิชาการผังเมืองอิสระ ย้อนความกระบวนการทำผังประเทศ 2600 ว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะมีภาคประชาชนและกลุ่มเอ็นจีโอมาร่วมรับฟังความเห็นจำนวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ และแม้แต่สมาคมนักผังเมืองไทยก็ยังไม่ได้รับเชิญ นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวล คือ ผังประเทศซึ่งมีที่มาไม่ชัดเจนและไม่ผ่านความเห็นชอบโดยคนส่วนใหญ่ ได้ถูกนำมากำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ถึงระดับโครงการในท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่าพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้วย
“ผังนโยบายอย่างผังประเทศ ซึ่งเป็นผังที่กำหนดการใช้พื้นที่แบบหยาบที่สุด ไม่ควรเสนอการใช้ประโยชน์ที่ดินถึงระดับพื้นที่ตั้งโครงการซึ่งเราไม่เห็นพื้นที่ชัดๆ ตัวอย่างเช่น ระบุให้สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้วแม้ชาวบ้านจะออกคัดค้าน ถามว่าทำไมไม่ให้ส่วนท้องถิ่นร่วมกันกำหนดเองว่าโครงการนี้จะอยู่ในผังเมืองรวมอำเภอละงู หรือผังชุมชน หรือไม่ ฉะนั้นจึงเท่ากับว่าคนปากบาราตอนนี้ถูกมัดมือชกให้ยอมรับการสร้างท่าเรือตั้งแต่ระดับผังประเทศ โดยไม่มีสิทธิโต้แย้ง” ภารนีกล่าว
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการผังเมืองอิสระ ชี้ว่าหากดูกลยุทธ์การพัฒนาของผังประเทศแบ่งเป็นระยะ 5 ปี (พ.ศ.2550-2555) 10 ปี (พ.ศ.2550-2560) และ 15 ปี (พ.ศ.2550-2565) จะพบว่า ภาพสุดท้ายของประเทศไทยจะมีพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้กรมโยธาฯ กำลังแก้ไขพ.ร.บ.การผังเมืองเพื่อรับรองผังประเทศ ซึ่งที่มีมาไม่ถูกต้องให้ชอบธรรมตามกฎหมาย แม้กรมโยธาฯ จะปฏิเสธและยืนยันว่าผังประเทศยังเป็นเพียงกรอบนโยบาย แต่หากดูตามเอกสาร ‘ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600 รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร’ (ดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/Y4Bmvz) ระบุสอดคล้องว่า ควรผลักดันให้ผังประเทศเป็นผังนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในระดับประเทศที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง เพื่อให้มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับต่อไปด้วย
อย่างไรก็ดี จากข้อวิจารณ์หลายประการต่อผังประเทศ เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ เปิดเผยว่าจะมีการแก้ไขผังประเทศดังกล่าวให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนขอเพียงมีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยขอให้กรมโยธาฯ เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง และพร้อมรับฟังความเห็นประชาชน
ถ่วงผังเมืองรวม 11 จังหวัด ห่วงเปิดทางพื้นที่สีม่วง รุกเขียว-ชมพู
เช่นเดียวกันกับผังประเทศ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2545 ให้กรมโยธาฯ เร่งจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศเช่นกัน (ก่อนหน้านั้นมีเพียงผังเมืองเฉพาะ เช่น ผังเทศบาล) ซึ่งเมื่อประกาศใช้จะมีผลตามกฎหมาย (แต่ละผังมีอายุ 5 ปี) แต่ผ่านมา 10 ปี กลับมีผังเมืองรวมจังหวัดประกาศใช้เพียง 8 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ ภูเก็ต สิงห์บุรี สระบุรี เชียงใหม่ ยโสธร นครนายก ปราจีนบุรี และราชบุรี
โดยไม่นานมานี้อีก 9 จังหวัดซึ่งผังเมืองรวมอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการประกาศใช้ กลับมีคำสั่งจากกรมโยธาฯ ให้รื้อกลับมาทบทวนใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 (จาก 24 ขั้นตอน) ตามที่ทางจังหวัดทำเรื่องเสนอเข้ามา ได้แก่ ผังเมืองรวม จ.ชลบุรี กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก ปัตตานี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการผังเมืองใหญ่ ได้อนุมัติให้มีการทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ จ.ลพบุรี และนครราชสีมา รวมเป็น 11 จังหวัด โดยอ้างว่าผังเมืองที่จะประกาศใช้ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงและไปจำกัดกรอบของการพัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดผังให้มีพื้นที่สีเขียวหรือเกษตรกรรมมากกว่า
ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่าง ‘เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก’ ระบุว่าความล่าช้าของการประกาศใช้ผังเมืองรวมกว่า 10 ปี ก่อให้เกิดการอาศัยช่องว่างของกฎหมายรุกพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะภายหลังมหาอุทกภัยปี 2554 เป็นเหตุให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรมมาภาคตะวันออก และมีการกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อยื่นขอจัดตั้งนิคมฯ ท่าเรือ และโรงงานในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง เช่น ปี 2553 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีพื้นที่อยู่ 500 ไร่ ผ่านมาเพียง 2 ปี ในปี 2555 มีขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 22,383 ไร่ โดยร้อยละ 83 ของที่ดินมีชาวต่างชาติถือโฉนด ยังพบว่าในปี 2556 นี้ จ.ชลบุรี จะมีนิคมอุตสาหกรรมที่จะสร้างและขยายเพิ่มอีกหลายแห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมซีพี 3,115 ไร่ นิคมฯชัยโย 1,907 ไร่ นิคมฯเหมราช โครงการ 2 637 ไร่ นิคมฯปิ่นทอง 3 ขยายเพิ่ม 62 ไร่ นิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ดขยายเพิ่ม 62 ไร่ รวมแล้ว 5,783 ไร่ ด้วย
จากการวิจัยพบว่าการขยายตัวรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกนอกจากจะทำให้เกิดปัญหามลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม กระเทือนความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำกับภาคเกษตรกรรมและชุมชน ในอีก 2 ปีข้างหน้าน้ำในภาคตะวันออกจะขาดแคลนถึง 519 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ กล่าวว่า ผลของการรื้อผังเมืองรวมจังหวัดสงขลามาทำใหม่เป็นช่องว่างให้โรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งในร่างผังเมืองกำหนดห้ามสร้างในพื้นที่สีเขียว มีความชอบธรรมที่จะยังดำเนินสร้างต่อได้ เนื่องจากการประกาศใช้ผังเมืองไม่มีผลย้อนหลังกับกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว โดยเห็นว่าการชะลอรื้อผังเมืองหลายจังหวัดอาจมีเบื้องหลังเกี่ยวพันกับกลุ่มนายทุนที่ต้องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมก่อนผังเมืองประกาศจำกัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วย
ภาคอีสานซึ่งเพิ่งมีการชะลอผังรวมเมือง จ.นครราชสีมา เกิดปรากฏการณ์กลุ่มนักลงทุนตระกูลดังและเจ้าของที่ดินเก่าเร่งนำที่ดินไปพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมในเขาใหญ่จำนวนมาก คาดว่าปีนี้จะมีคอนโดมิเนียมในเขาใหญ่เปิดใหม่ไม่น้อยกว่า 1,000 หน่วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีปีละ 300 หน่วย
ที่จ.กาญจนบุรี ประชาชนที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ผังเมืองรวมจังหวัดได้คัดค้านแนวปรับปรุงผังฯ โดยเฉพาะการวางแนวถนนเส้นใหม่และการปรับขยายเส้นทางเดิมกว่า 11 สายเพื่อรองรับการเชื่องโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่าและการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามแนวทางผังประเทศ 2600 เนื่องจากเกรงกระทบเขตชุมชนด้วย
เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ ระบุว่า การดำเนินการทำผังเมืองรวมจังหวัดทุกผังได้พยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่มีน้อยกว่าภาระงาน และบางขั้นตอนอยู่นอกเหนืออำนาจของกรมโยธาฯ เช่น ผังเมืองรวมจังหวัดบางผังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 5 ปี อย่างไรก็ดีจะมีการแก้ไขกฎหมายผังเมือง ปรับกระบวนการให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
เตือนดูให้รู้เท่าทัน “พื้นที่เสียวเขียวหมกเม็ดม่วง” ต้องตรวจสอบ
สิ่งประชาชนพึงระวังในการพิจารณาร่างผังเมืองรวมจังหวัด หรือการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ ‘ภารณี' แนะว่าจะต้องไม่ดูเพียงภาพผังที่แสดงการใช้ประโยชน์พื้นที่ซึ่งแบ่งเป็นสีต่างๆ (เช่น สีม่วง-อุตสาหกรรม สีเขียว-เกษตร สีชุมพู-เขตชุมชน) เท่านั้น แต่ต้องดูข้อกำหนดและบัญชีท้ายข้อกำหนดผังที่ระบุรายการยกเว้นว่าให้อุตสาหกรรมกิจการใดบ้างสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งโดยมากชาวบ้านมักจะไม่รู้และในเวทีการทำประชาพิจารณ์ทางราชการก็ไม่ได้นำข้อมูลส่วนนี้มาแสดงโดยละเอียด ทำให้เกิดการหมกเม็ดแฝงตัวของกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว
“ตอนเห็นผังเมือง จ.ชุมพรครั้งแรกก็ดูดี แต่พอมาดูบัญชีท้ายข้อกำหนดก็พบว่ามีการหมกเม็ดให้มีโรงไฟฟ้าและโรงถลุงเหล็กและปิโตรเคมีในพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งตามมาตรฐานผังเมืองแล้วอุตสาหกรรมพวกนี้ไม่ควรมีในพื้นที่สีเขียว แต่ถ้าผู้วางผังคิดว่าพื้นที่ในชุมพรควรรองรับการขยายของอุตสาหกรรมพวกนี้ ก็ควรทำวางผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีม่วง (อุตสาหกรรม) ไปเลย เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นชัด และมีโอกาสคัดค้าน ไม่ใช่การเอาไปซ่อนอยู่ใต้พรมเขียว เป็นพื้นที่เขียวไม่จริง” ‘ภารนี’ กล่าว
นักวิชาการผังเมืองอิสระเสนอว่าคณะกรรมการผังเมือง(ประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรอิสระและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง)จะต้องถูกตรวจสอบ โดยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนเพื่อหมกเม็ดเปลี่ยนแปลงหรือชะลอผังจังหวัด
“เราไม่มีวันรู้เลยว่ากรรมการผังเมืองรับเงินจากใครในการตัดสินใจแก้ไขหรือชะลอผัง และความเห็นนั้นกรรมการผังเมืองไม่มีการโหวต เป็นการคุยกันไปคุยกันมาแล้วเห็นชอบ แต่พอออกไปเป็นกฎหมายแล้วมันไปลิดรอนสิทธิประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญก้าวไปถึงการคุ้มครองสิทธิประชาชนแล้ว คุณเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐลิดรอนสิทธินั้น คุณก็ต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ”
ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้เปิดโอกาสภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดเพื่อเสนอความเห็นต่อการร่างผัง เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการและที่ปรึกษาระดับจังหวัดถูกแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งไม่สะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนในการดำเนินการร่างผังเมืองได้
กระตุ้นชาวบ้านทำผังชุมชน-ออกเทศบัญญัติเป็นเกราะป้องกันพื้นที่
ขณะนี้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยตื่นตัวในเรื่องผังเมืองมากขึ้น จากการรณรงค์ให้ความรู้และสนับสนุนการจัดทำ ‘ผังชุมชน’ โดยเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการอิสระกลุ่มต่างๆ โดยเป็นผังระดับย่อยสุดของแต่ละหมู่บ้านที่สามารถสะท้อนการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงว่าพื้นที่ใดขณะนี้เป็นสีใด มีโรงงานอุตสาหกรรม เขตชุมชน เกษตรกรรมอยู่บริเวณใดบ้าง โดยเมื่อนำผังแต่ละชุมชนมาต่อกันเป็นผังตำบลไล่ขึ้นไปสู่ระดับจังหวัด จะช่วยให้การทำผังเมืองสะท้อนจากล่างสู่บนได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องรอให้ภาครัฐหรือส่วนกลางมากำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของท้องถิ่น
‘ดร.สมนึก จงมีวศิน’ หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนการทำผังชุมชนภาคตะวันออก กล่าวว่าชาวบ้านสามารถทำผังชุมชนในหมู่บ้านตนได้ง่ายๆ “เช่น พื้นที่ตรงไหนเป็นแปลงปลูกผัก ทำไร่ ก็วาดรูปผัก ตรงไหนเป็นบ่อปลาก็วาดรูปปลา ตรงไหนเป็นชุมชนก็วาดรูปบ้าน โดยไม่ต้องอิงการแบ่งประเภทใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีที่ยุ่งยากแบบการทำผังเมืองรวมจังหวัด แค่วาดรูปเป็นแล้วนำผังแต่ละชุมชนมาต่อกันเป็นภาพใหญ่ เราก็จะได้ผังที่
ทั้งนี้แม้ว่าผังชุมชนตามกฎหมายแล้วจะเป็นเพียงผังเสนอแนะไม่สามารถใช้บังคับตามกฎหมายผังเมืองได้ แต่สามารถผลักดันผังชุมชนให้ผลตามกฎหมายได้ด้วยการให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อ.บ.ต.) หรือเทศบาล ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ เทศบัญญัติ อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หรือกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจท้องถิ่น เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในชุมชนในระหว่างช่องว่างกฎหมายที่ผังเมืองรวมจังหวัดยังไม่ประกาศใช้และเป็นไปด้วยความล่าช้า
‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ กล่าวว่า เวลานี้ชาวบ้านท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และชาวจะนะ จ.สงขลา กำลังทำผังชุมชนเพื่อนำไปสู่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นปกป้องสิทธิตนก่อนที่ผังเมืองรวมจังหวัดจะประกาศใช้ “ถ้าชาวบ้านออกข้อบัญญัติท้องถิ่นห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ ถ้าโรงไฟฟ้าจะมาตั้งก็คงต้องสู้เหนื่อยหน่อย” นักวิชาการผังเมืองกล่าว
…………………………………………
นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของแนวโน้มการใช้ประโยชน์ผืนดินไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราทุกคน ท่ามกล่างปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมกรรม และพื้นที่ชุมชน ยังรวมไปถึงพื้นที่แหล่งอาหารที่เป็นความมั่นคงเรื่องปากท้อง จึงต้องช่วยกันจับตา-ตรวจสอบ!
บทความที่เกี่ยวข้อง :::
'‘ภารนี สวัสดิรักษ์’ จับตาผังเมืองใหม่ ท่ามกลางเส้นแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรม-ชุมชน'
http://bit.ly/Wlvkse
ที่มาภาพ :::
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000029551
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=584410088236876&set=p.584410088236876&type=3&theater