มองการสร้างรัฐสร้างชาติพม่า ผ่าน "วีรบุรุษ"
เป็นที่ทราบกันดีว่า พม่าในปัจจุบัน กำลังก้าวกระโดดข้ามไปสู่การปรับเปลี่ยนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เกือบจะทุกด้าน
พม่าภายใต้ระบบเผด็จการทหารในหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสาธารณสุขของประเทศต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ กำลังรอการแก้ไข ซึ่งความหวังนี้แน่นอนว่า ถูกฝากไว้ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย “National League for Democracy" (NLD) อันมีนางออง ซาน ซู จี เป็นผู้นำ
แต่สำหรับพม่าในวันนี้ ยังคงถูกปกครองด้วยรัฐบาลที่รับช่วงอำนาจมาจากรัฐบาลทหารในอดีต คนที่อยู่รอบ ๆ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในฐานะหัวหน้าพรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) จำนวนไม่น้อย เป็นคนที่ตกทอดมาจากอำนาจเก่า จึงยังมี "กรอบความคิด" และ "วิธีปฏิบัติ" แบบเก่า แม้จะสำนึกว่าจะต้องก้าวพ้นจากระบบ "รวมศูนย์" แบบเก่าก็ตาม แต่แม้จะมีความหวังดี พร้อมจะปรับเปลี่ยน แต่ก็ยังขาดประสบการณ์และการเรียนรู้เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
“ภูมิทัศน์การเมืองของพม่าวันนี้ ยังอยู่ในกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติ ยังมีสองแรงปะทะที่เผชิญกันอยู่ คือ ชนชั้นนำพม่าและคนพม่าโดยรวมที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง กับแรงแยกออกจากศูนย์ที่เกิดจากขุนศึกชายแดนที่อยากสร้างชาติของตัวเอง เช่น ขุมกำลังที่อยากตั้งรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน”
"ดุลยภาค ปรีชารัชช" อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองพม่า อธิบายถึงสถานการณ์พม่าปัจจุบัน ในวงเสวนา “สารคดีทอล์ค ครั้งที่ 1” ที่จัดโดยนิตยสารสารคดี
โดย อ.ดุลยภาค ได้ฉายภาพพม่าผ่านประวัติศาสตร์การสร้าง “วีรบุรุษ” (Hero) ว่า การสร้างฮีโร่ของรัฐพม่าเป็นแบบ "คิดเก่า ทำใหม่" โดยอิงกับความเป็นนักรบ นักการทหาร ตั้งแต่สมัยบูรพกษัตริย์ในอดีต จนมาถึงจุดหักเหในช่วงที่อังกฤษคุกคาม จึงทำให้เกิดวีรบุรุษที่เป็นคนธรรมดา
ย้อนลำดับประวัติศาสตร์กลับไป พม่าผ่านยุคมีกษัตริย์ปกครอง ซึ่งปรากฏพระมหากษัตริย์ที่มีความเก่งกล้าสามารถโดดเด่นหลายพระองค์ด้วยกัน ยังให้เกิด 3 วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจชาวพม่า ที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่กลางกรุงเนปิดอว์ นั่นคือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา โดยผู้นำพม่าในยุคร่วมสมัยยังได้ถือเอาวีรกษัตริย์เหล่านั้นเป็น “โมเดล” ในการบริหารปกครองประเทศ
(ที่มาภาพ http://bit.ly/13jZdyi)
"เช่น พระเจ้าอโนรธามังช่อ ยุคราชวงศ์พุกาม ได้ทรงสร้างพุกามให้ยิ่งใหญ่มาก พระองค์มีลักษณะที่ผสมผสาน เป็นทั้งนักการทหาร ที่สร้างป้อมใหญ่หลายแห่งเพื่อป้องกันชนเผ่าในเขตที่ราบสูง เป็นนักปฏิวัติทางสังคมเนื่องจากได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพระพุทธศาสนา และได้ที่หยั่งพุทธแบบเถรวาทให้เป็นศาสนาประจำชาติของพม่าจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันมีลักษณะเป็นกษัตริย์นักพัฒนา สร้างเขื่อน ลำประโดง เหมืองฝาย คลองชลประทานเพื่อให้เขตแห้งแล้งของพม่าแถวพุกามกลายเป็นพื้นที่สีเขียว พระเจ้าอโนรธาจึงเป็นหลาย ๆ อย่างในคน ๆ เดียวกัน"
“พฤติกรรมและภารกิจแบบนี้เป็นหน่อเนื้ออ่อน ๆ ให้กับวิสัยทัศน์ของพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย” อ.ดุลยภาคระบุ
หรือพระเจ้าอลองพญา ยุคราชวงศ์คองบอง มีความเข้มแข็งมากสามารถปราบเมืองต่าง ๆ ได้ มีชนชาติตะวันตกมาทำการค้าจำนวนมาก หลังถูกคุกคามและตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ระบอบกษัตริย์ล่มสลายเพราะถูกกวาดล้างจนสิ้นซาก ก็เริ่มมีวีรชนที่ไม่ใช่กษัตริย์ แต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวในนามของพระสงฆ์ ที่เคลื่อนไหวแบบอหิงสาโดยใช้คอนเซ็ปท์การต่อสู้ที่ประเทศอินเดียและซึมซับจากมหาตมะคานธี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้ยุคหลัง ๆ ในการต่อต้านเจ้าอาณานิคม
มาถึงจุดที่เป็นจุดหักเหที่สุดของพม่า คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่ประเทศพม่าเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช ทำให้เกิดปรากฎตัวสุดยอดวีรบุรุษที่สำคัญสองคนในประวัติศาสตร์พม่า
หนึ่ง นายพลอองซาน พ่อของอองซาน ซูจี ที่เป็นคนตั้งกองทัพพม่า เป็นทั้งบิดาแห่งกองทัพพม่าและเป็นบิดาแห่งการเรียกร้องเอกราชให้แก่พม่า และยังเป็นสุดยอดสถาปนิกผู้สร้างรัฐด้วยการทำข้อตกลงสัญญาปางโหลงกับกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วเคยคิดที่จะให้พม่ามีโมเดลกึ่ง ๆ พหุรัฐ คือเป็นรัฐเครือสหภาพ ให้สิทธิในการปกครองตนเองพอสมควรแก่กลุ่มชาติพันธุ์
แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกเมื่อนายพลอองซานถูกลอบสังหาร แล้วนายพลอูนุก็ขึ้นมา และปฏิเสธเรื่องพหุรัฐพอสมควร
สอง นายพลเนวิน ที่ปฏิเสธพหุรัฐมาก พอขึ้นมามีอำนาจก็ทำให้พม่าเป็นเอกรัฐ แก้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 1974 ให้เป็นโครงสร้างที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น นายพลเนวินกลับถูกมองในแง่ดีสำหรับคนพม่าที่ถูกกล่อมเกลาโดยชนชั้นนำทหารสมัยอูนุ
แต่ในมุมมองของขบวนการ 1988 เนวินคือทรราช เป็นเผด็จการอำนาจนิยม !
จากการไล่เรียงความเป็นมาของชนชั้นนำผ่านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จะพบว่า ชนชั้นนำพม่ามีความฉลาดในการเลือกหยิบเลือกใช้เฉพาะวีรชนที่น่าจะเป็นคุณต่อรัฐบาลในการครองอำนาจหรือโฆษณาผ่านสื่อของรัฐเพื่อกล่อมเกลาประชาชน
ในขณะที่บางด้านของวีรบุรุษในอดีตอาจถูกกลบให้ 'มัว' ไป ส่วนบางคนอาจถูกขับให้ 'เด่น' ขึ้นมา
เช่น นายพลอองซาน รัฐบาลพม่าชอบมาก บอกว่าท่านเป็นบิดาแห่งกองทัพพม่า และนายพลอองซานเป็นคนพูดว่า “ประเทศนี้เป็นประเทศเล็ก ๆ มีภัยคุกคามรอบด้าน อย่างต่ำต้องมีกำลังพลหรือกองทหารหนึ่งล้านนาย” ซึ่งมีลักษณะเป็นซาสฟิสม์ชัดเจน แต่ขุนทหารส่วนใหญ่ชอบ
มาภายหลัง เมื่อขุนทหารไปมีเรื่องกับลูกของนายพลอองซาน คือ ออง ซาน ซูจี สุดท้ายก็เลือกเก็บนายพล อองซานเข้าลิ้นชักไป ไม่ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้
แต่สิ่งที่ทดแทน คือ ราชานุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของ 3 วีรกษัตริย์พม่าในอดีตที่เป็นยอดนักรบ คือ พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าอะลองพญา พระเจ้าอโนรธา
ขณะเดียวกัน แผนของพลเอกตานฉ่วยที่จะสร้างพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้มีอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก มีถนนเชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ ก็คือเทคนิคแบบกษัตริย์นักพัฒนาที่จำลองมาจากพระเจ้าอโนรธา และสิ่งที่ผู้นำพม่าพัฒนามาตลอด คือ การขยายแสนยานุภาพของกองทัพให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร โดยมีตัวแบบจากกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียในยุคนั้น
เพราะแกนกลางในการสร้างรัฐสร้างชาติ คือ กองทัพ ซึ่งหมายถึง “สงคราม” โดยกองทัพถือตัวเองว่าเป็นกระดูกสันหลังในการสร้างรัฐสร้างชาติ และเรียกความภาคภูมิใจ เกียรติยศอันสง่างามจากประวัติศาสตร์เพื่อเรียกความภักดีจากประชาชน นี่คือสิ่งที่กองทัพพม่ายึดถือ
พม่า ถือว่า การสร้างรัฐสร้างชาติยังไม่จบ ยังจำเป็นต้องรวมชาติอยู่ด้วยการใช้ความเข้มแข็งของกองทัพเข้าไปทำสงครามกวาดล้างกองทหารอื่น ๆ ที่เป็นคู่ปรปักษ์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์
“แต่สำหรับปัจจุบัน สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก คงจะใช้สูตรการทำสงครามอย่างเดียวต่อไปอีกไม่ได้ พม่าจึงมีการพัฒนาสูตรทางการเมืองที่หลากหลาย
เราจึงเห็นพม่าคุยเรื่องการปรองดองแห่งชาติ คุยกับออง ซาน ซูจี การคุยเรื่องประชาธิปไตย โจทย์ที่แหลมคมจึงตกอยู่กับเต็งเส่ง ที่ ณ วันนี้ต้องคุยสูตรการเมืองทุ่มลึกและสร้างสรรค์มากขึ้น บทที่เต็งเส่งน่าจะเล่น คือ บทนักปรองดองแห่งชาติ การพยามยามสมานฉันท์กลุ่มชาติพันธุ์
"แต่บทที่พลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเล่นยังเป็นสไตล์บุเรงนองอยู่ดี นี่คือโจทย์ที่แหลมคมของพม่าเกี่ยวกับวีรบุรุษแห่งชาติ” อ.ดุลยภาคฝากโจทย์ทิ้งท้าย
ออง ซาน ซูจี เคยเขียนในหนังสือรายสัปดาห์ของพรรคว่า เส้นทางข้างหน้ายังยาวไกลและท้าทาย “เราจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคด้วยเลือดใหม่และ ต้องเลือกเส้นทางที่ถูกต้อง”
ทว่า...น่าเป็นห่วงว่า ใครจะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ต่อจากนางซูจีและเมียนมาร์จะพัฒนาได้อย่างไร หากยังยึดติดกับนางซูจี.