3 เหตุผลทำไมเราไม่ควรชะล่าใจ ฐานะการคลัง-หนี้สาธารณะ โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา
1. “พอหนี้เริ่มเพิ่มขึ้น มันจะพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด”
เราคิดว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ที่ 40% อยู่ในระดับที่รับได้ แต่ประเทศอื่น ๆ อย่างสเปน หรือไอร์แลนด์ ก็เคยมีภาระหนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% เมื่อไม่นานมานี้ แต่เมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไอร์แลนด์ซึ่งมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP อยู่ที่ 25% ในปี 2007 กลับมีสัดส่วนนี้กระโดดขึ้นไปเป็น 106% ภายใน 4 ปี (ดูภาพที่ 1)
หนี้ก้อนโต ภาระหนี้ยิ่งเพิ่มเร็ว เฉพาะภาระดอกเบี้ยอย่างเดียวก็คิดเป็น 5 เท่าของรายจ่ายชำระคืนเงินต้นแล้ว ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยเราต่ำมาก แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 2 % จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปถึง 60% (ดูภาพที่ 2)
2. “ยังมีหนี้ที่ซ่อนอยู่”
ตัวเลขสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ของไทยที่ระดับ 43.3% (ข้อมูล ณ ปี 2011) นั้นรวมเฉพาะ หนี้รัฐบาล หนี้กองทุนฟื้นฟู หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทั้งหมด และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะที่รัฐค้ำประกัน แต่ที่ยังไม่ได้รวมคือหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ส่วนที่รัฐไม่ได้ค้ำประกัน) ซึ่งประเทศไทยมักใช้ SFI (โครงการเชื่อมโยงบริการการเงินระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) เป็นเครื่องมือด้านงบประมาณของรัฐบาล เช่น กู้เงินจากธกส. เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังไม่รวม “ภาระผูกพัน” ในอนาคต อาทิเช่น งบสำหรับโครงการรถคันแรกที่จะเป็นภาระผูกพันไปจนถึงงบประมาณปี 2557 ซึ่งงบก้อนใหญ่ที่สุดคือ งบในปี 2557 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านบาท
3. “บีบงบลงทุนหมด”
ถึงแม้ว่าภาระหนี้ของไทยในตอนนี้อาจจะยังไม่อยู่ในระดับวิกฤตก็ตาม แต่ภาระหนี้เหล่านี้จะส่งผลให้ไทยมีงบประมาณเหลือเพื่อการจัดสรร (Fiscal Space) น้อยลง จะทำให้รัฐบาลยิ่งต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มจนเกือบเต็มเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมาย ส่งผลให้งบลงทุนถูกจำกัดตามไปด้วย
โดย ศิริกัญญา ตันสกุล
[email protected]
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ที่มา:http://www.thailandfuturefoundation.org/th/article/TFF_Public_Debt.php