เศรษฐกิจเกษตรหดตัว 0.4% ไตรมาสแรกปี 56 เหตุภัยแล้งหนัก
สศก.ชี้เศรษฐกิจเกษตรหดตัว 0.4% ไตรมาสแรกปี 56 จากภัยแล้ง เหนือ-อีสานหนัก แต่ทั้งปีแนวโน้มขยายตัว 5% หวัง พ.ค.ฝนไม่ทิ้งช่วง ผลผลิตข้าวนาปี-อ้อย-ยางพารา-ปาล์มเติบโตสูง
วันที่ 22 มี.ค. 56 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ของปี 56 พบหดตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศปี 55 น้อยกว่าปี 54 ประกอบกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงฤดูฝน เพราะกลัวจะเกิดน้ำท่วมอีก จนส่งผลให้เกิดภัยแล้งและกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ
เมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืชหดตัวร้อยละ 1.9 โดยผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง และผลไม้ ส่วนผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ด้านสาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 2 ทั้งเนื้อไก่ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ สาขาประมงขยายตัวร้อยละ 3.8 เป็นผลมาจากสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงของภาคใต้ที่กลับสู่ภาวะปกติ เพราะไม่พบโรคระบาด สาขาบริการทางการเกษตรลดลงร้อยละ 2.4 และสาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 3.3
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 56 คาดว่าภาพรวมทั้งปีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 55 อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรในไตรมาส 2 อาจเสี่ยงต่อภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในพ.ค. 56 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยคาดว่า สาขาพืช ภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4-5 แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งผลกระทบต่อการผลิตพืชในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่รัฐบาลก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในหลายด้าน เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ การปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้หากพ.ค. 56 ไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง คาดว่าผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จะมีแนวโน้มสูงขึ้น สาขาปศุสัตว์ จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.8-2.8 สาขาประมง จะขยายตัวช่วงร้อยละ 2-3 สาขาบริการทางการเกษตร จะขยายตัวช่วงร้อยละ 1.3-2.3 และสาขาป่าไม้ จะขยายตัวช่วงร้อยละ 0.5-1.5
เลขาธิการสศก. ยังกล่าวถึงการพยากรณ์ปริมาณผลผลิตข้าว ปีเพาะปลูก 2555/56 รอบที่ 1 ประมาณ 25.9 ล้านตัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบผลผลิตข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 15 ล้านตัน ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และผลการพยากรณ์ปริมาณผลผลิตข้าว ปีเพาะปลูก 2555/56 รอบที่ 2 ประมาณ 9.9 ล้านตัน (พยากรณ์มี.ค. 56) และกขช.เห็นชอบผลผลิตข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการรับทั้งสิ้น 7 ล้านตัน โดยระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค. 55-15 ก.ย. 56.