นาปรังในเขตชลประทาน ทำเกินไปกว่า 1 ล้านไร่แล้ว
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(21 มี.ค. 56) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 40,376 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2555 จำนวน 5,452 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ เหลืออยู่ประมาณ 16,877 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,160 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,127 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,277 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 498 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 455 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 317 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 15 มี.ค. 56) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นพื้นที่มากกว่า 10.20 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้(แผนกำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 9.90 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 108 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 9.17 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.37 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.43 ล้านไร่)
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2555/2556 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(21 มี.ค. 56) มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,410 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งหมดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำอีก 1,590 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สามารถนำมาใช้ได้เหลือเพียงร้อยละ 18 ของแผนฯเท่านั้น แต่พื้นที่ทำนาปรังในเขตชลประทานเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินกว่าแผนไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ จึงขอย้ำเตือนให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้งดทำนาปรังครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแคลนน้ำ และเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ใช้ได้ตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน
**********************************************
หมายเหตุ – การจัดสรรน้ำฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เมษายนของทุกปี