กลุ่มหนุนปัตตานีมหานครชู "เขตปกครองพิเศษ" แลกสันติภาพ
แม้จะไม่มีความคืบหน้าใหม่ๆ อะไรมากมาย แต่ "ข่าวประชาสัมพันธ์" จากคณะกรรมการปฏิปกฎหมาย (คปก.) เมื่อ 19 มี.ค.2556 ก็ถือว่าปรากฏสู่สาธารณะอย่างถูกจังหวะเวลา และจังหวะจะโคน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้ปกครองดูแลตนเองให้มากขึ้น ซึ่งสอดรับกับกระแสที่มีการพูดถึง "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" พอดิบพอดี
คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ใน คปก.ได้จัดการประชุมเครือข่ายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีตัวแทนจากสภาพัฒนาการเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนจังหวัดจัดการตนเอง (ตามที่ได้มีการเปิดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นและตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนกันมาก่อนหน้านี้) ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินการผลักดันกฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการเฉพาะเรื่องด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการการกระจายอำนาจการปกครองดูแลตนเองไม่ใช่การแก้ไขที่อำนาจศูนย์กลาง แต่เป็นการจัดการภายในพื้นที่แต่ละชุมชนซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การจัดการทางการเมืองศูนย์กลางได้ สำหรับการปฏิรูปกฎหมายแม้จะพิจารณาเรื่องร่างกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็เน้นที่การเชื่อมโยงกฎหมายกับท้องถิ่น กล่าวคือ ไม่ได้มองกฎหมายเป็นธงในการแก้ไขปัญหา แต่มองเป็นเรื่องกระบวนการในการเรียนรู้ การเรียนรู้ร่วมกันย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดอำนาจในเชิงพื้นที่
การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการทำงานร่วมกันใน 4 ด้าน คือ 1.การยกร่างกฎหมาย 2.การขับเคลื่อน 3.งานวิชาการ และ 4.การสื่อสารสาธารณะ
จัดทำกฎหมายกลาง "จังหวัดจัดการตนเอง"
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของ คปก.ว่า คปก.มีแนวทางจะดำเนินการใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.จัดทำกฎหมายกลางขึ้นมา และ 2.สนับสนุนกฎหมายที่ประชาชนจัดทำอยู่แล้ว โดยจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่ามีประเด็นสำคัญคือ
1.มีการบูรณาการกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมี 5 -6 รูปแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ คปก.เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทบทวนและประมวลเรื่องนี้โดยยึดหลักให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระทุกด้าน รวมถึงต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.เป็นความพยายามของประชาชนในระดับจังหวัด ถ้าประชาชนมีเจตจำนงที่จะปกครองตนเองในระดับจังหวัด ซึ่งพบว่ามีความตื่นตัวอย่างมากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.อำนาจเจริญ โดยใช้คำว่า "จังหวัดจัดการตนเอง" นั้น คปก.ได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วมีความเห็นว่า ควรจัดทำเป็นกฎหมายกลางขึ้นมา โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ มีความเป็นอิสระในทุกด้าน มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง และเน้นการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดย คปก.มีที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2556-2557 นี้
"เป้าหมายคือทำอย่างไรจะสามารถผลักดันให้มีกฎหมาย โดยกำหนดแผนเอาไว้ดังนี้ 1.ผลักดันกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.แกนนำต้องตกผลึกในเนื้อหาและแนวคิด 3.ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารให้ประชาชนระดับจังหวัด ตำบล และหมู่บ้านเข้าใจและรู้สึกว่าเป็นร่างกฎหมายของเขาเอง 4.การรวบรวมรายชื่อ ซึ่งต้องกระทำคู่ขนานไปกับแผนทำความเข้าใจ โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เพียง 1 หมื่นชื่อ แต่จะให้ได้มากที่สุดเพื่อสะท้อนความต้องการ 5.แผนการสื่อสารกับสาธารณะในวงกว้างในทุกช่องทาง และ 6. แผนในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา รวมทั้งวิธีการ ขั้นตอน และเทคนิคต่างๆ เพื่อตรากฎหมาย" นายไพโรจน์ ระบุ
ร่างเชียงใหม่มหานครชู "สภาพลเมือง"
นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้แทนเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีกฎหมายการจัดการตนเองเชียงใหม่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2550-2551 เริ่มมีการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการตนเอง จนในที่สุดจึงมีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เชียงใหม่มหานคร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ ยกเลิกราชการส่วนกลาง คงไว้เพียงส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
ส่วนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายนั้น เริ่มมีการจัดเวทีลงพื้นที่ต่างๆ มีเวทีรณรงค์ 120 วัน โดยเวทีเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสำคัญๆ ของจังหวัด เช่น การศึกษา การบริหาร สิทธิสตรี เป็นต้น ต่อมาได้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อผลักดันร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร ประเด็นหลักที่สำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ให้มี "สภาพลเมือง" ซึ่งมาจากแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่ผ่านมามีการทดลองสภาพลเมืองไปแล้ว และบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การย้ายเรือนจำที่ตั้งอยู่ในเมืองไปอยู่นอกเมือง
บันไดสามขั้นอำนาจเจริญ "จัดการตนเอง"
ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเองอำนาจเจริญ กล่าวว่า มีแผนดำเนินการในรูปแบบบันไดสามขั้น โดยบันไดขั้นที่หนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนสำนึกของประชาชน จากผู้ถูกปกครองมาเป็นผู้ที่ปกครองตนเองในระดับหมู่บ้าน ตำบล ถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งบันไดขั้นที่หนึ่งบรรลุผลไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.2555 มีการจัดทำธรรมนูญจังหวัดจัดการตนเองเป็นสำนึกใหม่ของประชาชน
จากนั้นได้ก้าวสู่บันไดขั้นที่สอง มองคนที่อยู่ในอำนาจเจริญทุกคนคือคนอำนาจเจริญ แล้่วมาคิดเรื่องของคนอำนาจเจริญร่วมกัน โดยสร้างเป้าหมายใหม่ร่วมกัน ใช้ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข สำหรับในขั้นตอนต่อไป คือบันไดขั้นที่สาม จะใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเปิดเวทีให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการร่วมกัน คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการสร้างสำนึกร่วม
"เขตปกครองพิเศษ" แลกสันติภาพชายแดนใต้
ผู้แทนที่นำเสนอแนวทางปัตตานีมหานคร กล่าวว่า เป็นเวลา 9 ปีแล้วที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 5,100 คน สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นการให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาเพียงส่วนเดียวอาจไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา
ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง คือความเป็นมลายู และการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม จึงได้มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กร และภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันคิด และสรุปว่าต้องการให้มีการปกครองตนเอง โดยมีโมเดล 4-5 โมเดล และเห็นว่าโมเดล "ปัตตานีมหานคร" น่าจะเป็นโมเดลที่ดีที่สุด ซึ่งตรงนี้ใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี
ยืนยันว่าโมเดลปัตตานีมหานครไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน โดยข้อเสนอปัตตานีมหานครนั้นต้องเข้าใจร่วมกันว่า การใช้กำลังเข้าต่อสู้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องใช้วิธีการเจรจา และการให้เขตปกครองพิเศษ เพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่อย่างแท้จริง
"การดำเนินการในระยะต่อไปจะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะได้รายชื่อครบภายในปลายปีนี้ ส่วนประเด็นที่ต้องสนับสนุนต่อไปคือ การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และสนับสนุนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่กำลังเกิดขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง" ผู้แทนที่สนับสนุนแนวทางปัตตานีมหานคร กล่าว
รื้อโครงสร้าง กทม.-แก้แขวนอำนาจที่ผู้ว่าฯ
นายณัชพล เกิดเกษม ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชน กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ข้อดีของ กทม.คือ ไม่ต้องผลักดันให้มีกฎหมาย เนื่องจากมีพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรุงเทพฯมีขนาดใหญ่ แต่อำนาจแขวนไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงคนเดียว และการบริหารงานส่วนใหญ่ดำเนินการโดยข้าราชการประจำ แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 จะรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในกฎหมาย กทม.กลับยังไม่ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมได้มากเท่าที่ควร
ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงเป็นไปโดยกลไกประชาชนและภาคประชาสังคม ส่วนสิ่งที่ควรแก้ไข ได้แก่ โครงสร้างและการมีส่วนร่วม ด้านโครงสร้างควรแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนมหานคร กำกับดูแลโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเช่นเดิม และเพิ่มส่วนนครบาล แบ่ง 50 เขตที่มีอยู่เป็น 50 นครบาล ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับการมีส่วนร่วม ควรจัดให้มีสภาพลเมือง ซึ่งจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อเสนอโดยสรุป คือ แก้ไข พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร ในประเด็นการมีส่วนร่วมและโครงสร้าง โดยจะนำร่างนี้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นในหลายระดับและเข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายต่อไป
ภูเก็ตล่าช้า-ขอนแก่น ขรก.ไม่เอาด้วย
ขณะที่ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเองภูเก็ต กล่าวว่า การขับเคลื่อนในส่วนของภูเก็ตยอมรับว่าค่อนข้างล่าช้า ปกครองและการพัฒนาภูเก็ตนั้น เราต้องการโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนา มีอำนาจที่เพียงพอ และต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งหนีไม่พ้นเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องใช้เวลาทบทวน โดยวางแผนไว้ภายใน 3 ปีจะผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความตื่นตัวของคนในพื้นที่ด้วย
นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ นักวิชาการอิสระจาก จ.ขอนแก่น กล่าวถึงแผนจังหวัดจัดการตนเองขอนแก่นว่า กำลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเอง ตั้งเป้าหมายว่าจะยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดของคณะกรรมการซึ่งยังไม่ตกผลึก นอกจากนี้ ยังได้แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ โดยส่วนที่เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดการตนเองได้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมักจะเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง เพราะยังยึดติดกับลัทธิอำมาตย์นิยมอยู่ไม่จางหาย และควรใช้เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู้สิ่งที่ดีกว่า" เป็นแกนในการขับเคลื่อนต่อไป โดยอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคืองบประมาณ
สำหรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเอง คือ มีรูปแบบการปกครองพิเศษขอนแก่นมหานคร มีสภาพลเมือง กำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาจากอาชีพ ซึ่งสมาชิกสภาจะต้องเข้าใจว่าสภาพลเมืองมีบทบาทในการดำเนินงานร่วมกับสภาจังหวัดอย่างไร ส่วนด้านการตรวจสอบนั้น ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนได้ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภา โดยลงคะแนนเสียงไม่น้องกว่า 5,000 คน
แนะตั้งคณะทำงานยกร่าง ก.ม.กลาง-ก.ม.เฉพาะ
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้คือ จะสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่จัดการตนเองนี้อย่างไร อาจจะหมายถึงเขตจังหวัดปกครองพิเศษ (ไม่ใช่จังหวัดเดียว) อย่างปัตตานีมหานครด้วย ซึ่งพื้นที่จัดการตนเองที่พูดถึงอยู่นี้ ต้องมีกฎหมาย เพื่อให้สถานะองค์กรปกครองตนเองสามารถเดินต่อในระดับปฏิบัติการได้ แต่นั่นคือปลายทาง ขณะนี้ตัวต้นทางยังไม่เกิด จึงเป็นประเด็นพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีกฎหมายเกิดขึ้น
"ควรมีคณะทำงานร่วมขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจมี คปก.เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อพิจารณาขอบเขตหน้าที่และโครงสร้างภายในของจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงเรื่องการเงินกาคลัง การตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจ แล้วจึงยกร่างกฎหมายขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์ และกฎหมายร่วมนี้จะเป็นช่องทางให้แต่ละจังหวัดขับเคลื่อนต่อไป นอกจากนั้น อาจจะมีกฎหมายเฉพาะ เช่น ปัตตานีมหานคร หรือกฎหมาย กทม.ที่จะต้องยกร่างขึ้นมาใหม่ในอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการขยายความคิดในระดับพื้นที่และระดับชาติ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป" ศ.ดร.จรัส ระบุในตอนท้าย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ข่าวชิ้นนี้ส่งมาจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย "ทีมข่าวอิศรา" ได้นำมาเรียบเรียง ปรับแก้คำผิด และเพิ่มพาดหัวหลัก พาดหัวย่อยเข้าไป เพื่อให้อ่านง่ายแบบข่าวหนังสือพิมพ์
บรรยายภาพ : หน้าเว็บไซต์ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย