DSI แถลงผลสืบสวนทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย
๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖ - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันแถลงผลการสืบสวนกรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้สอบคัดเลือกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖
ผลการสืบสวน พบพยานหลักฐาน ดังนี้
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ มีบุคคลอื่นเข้าสอบแทน
๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ ผู้เข้าสอบได้เฉลยข้อสอบมาทั้ง ๔ วิชา โดยมีการส่งข้อความมาทาง SMS แต่ผู้เข้าสอบไม่ได้นำเข้าไปในห้องสอบ แต่ใช้วิธีการท่องจำเข้าไป
๓. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓ ผู้เข้าสอบได้นำเครื่องมือสื่อสาร เพื่อใช้ส่งสัญญาณเฉลยข้อสอบ และมีการนำเฉลยข้อสอบ เข้าไปในห้องสอบ
๔. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑ ผู้เข้าสอบนำเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ
๕. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๒ ผู้เข้าสอบได้เฉลยข้อสอบมาทั้ง ๔ วิชา แต่ไม่ได้นำเข้าไปในห้องสอบ แต่ใช้วิธีการท่องจำเข้าไป
๖. จากการตรวจสอบคะแนนผู้ที่สอบได้ในเขตพื้นที่ต่างๆ ปรากฏว่าผลการสอบมีผู้ที่ทำคะแนนสอบได้สูงผิดปกติ จำนวน ๔๘๖ ราย จากผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น ๙,๒๔๒ ราย แต่สามารถบรรจุได้จำนวน ๒,๑๖๑ ราย
จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าการสอบคัดเลือก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖ มีการทุจริตจริง ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณายกเลิกการสอบ เฉพาะพื้นที่ที่พบการทุจริตที่ชัดเจนดังกล่าว ได้แก่
๑) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓
๒) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓
๓) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑
๔) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๒
แต่ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะต้องพิจารณาคะแนนของผู้ที่สอบว่ามีผลคะแนนสูงผิดปกติหรือไม่ ประกอบอีกด้วย
สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ที่มีผู้เข้าสอบและมีผลคะแนนสอบสูงผิดปกติ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๔๘๖ ราย กระทรวงศึกษาธิการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ร่วมกันตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีบุคคลหรือพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตในการสอบดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สามารถดำเนินการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๖/ว ๑๒ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ข้อ ๖ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "การดำเนินการคัดเลือก หากปรากฏว่ามีการทุจริตหรือส่อไปในทางไม่สุจริตหรือดำเนินการผิดพลาดอันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกการคัดเลือกในครั้งนั้นได้" และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำการทุจริตต่อไป
อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ เชื่อว่าการทุจริตสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ มีการกระทำเป็นกระบวนการ ระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้เข้าสอบ และมีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้น โดยมีพยานหลักฐาน ดังนี้
๑. มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการโดยกำหนดให้ส่วนราชการ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ ซึ่งเดิมสำนักงานเขตพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบเอง
๒. มีการจัดทำข้อสอบ โดยจ้างบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด เป็นผู้จัดพิมพ์
๓. มีการจัดส่งข้อสอบ โดยจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเดิมสำนักงานเขตพื้นที่จะมารับข้อสอบเอง
๔. มีการสั่งให้บุคคลไปสมัครสอบต่างพื้นที่และยังให้ไปสมัครในพื้นที่อื่นอีกก่อนที่จะมีการสอบ (วันที่ ๖-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ)
๕. มีการจัดผังที่นั่งสอบใหม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เข้าสอบ
๖. มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือ(โทรศัพท์) ก่อนมีการสอบ ๒ วัน (วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖)
๗. มีการส่งเฉลยข้อสอบมาให้ก่อนวันสอบ ๑ วัน (คืนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖)
๘. มีการให้จดเฉลยข้อสอบเพื่อท่องเข้าไปในห้องสอบโดยได้เฉลยก่อนวันสอบ ๑ วัน (วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖)
๙. มีการจดเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ (วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖)
อนึ่ง เนื่องจากลักษณะการกระทำความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชีท้ายแห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงจะได้เสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อมีมติให้คดีความผิด กรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นคดีพิเศษ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖