เวทีข้าวลุ่มน้ำโขง ถอดบทเรียนความล้มเหลวนโยบายจำนำสินค้าเกษตร
แลกเปลี่ยนบทเรียนข้าว ปท.ลุ่มน้ำโขง 'นิพนธ์'ชี้หมดยุคทองเกษตรไทยนานแล้ว ย้อนรอยเพื่อนบ้านให้รัฐบาลผูกขาดตลาดนำหายนะ ไม่ดูบทเรียนขนแกะท่วมโกดังออสเตรเลีย
วันที่ 19 มี.ค. 56 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติและ Institute of Farm Economics ประเทศเยอรมัน จัดประชุมวิชาการ ‘South-East Asian Agri Benchmark Rice Network’ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันในด้านการผลิต การค้า และนโยบายเรื่องข้าวของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ ไทย เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่านเกษตร สกว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้นับเป็นการประชุมวิชาการครั้งแรกที่ประเทศผู้ค้าข้าวหลัก หรือ กำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อศึกษาความก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยีการผลิต ตลาด ปัญหา อุปสรรค และนโยบายเรื่องข้าวของแต่ละประเทศ และวิเคราะห์ประเด็นบางอย่างร่วมกันซึ่งประเทศไทยประเทศเดียวไม่สามารถทำได้ครอบคลุม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้นักวิจัยไทยได้เข้าถึงข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้าน
“ประเทศเพื่อนบ้านสามารถเป็นได้ทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้เขารู้เรา รู้ให้เท่าทันและทั่วถึง เพื่อดูว่าประเทศไทยควรรับมือหรือส่งเสริมเรื่องข้าวอย่างไรในตลาดโลก เมื่อทราบข้อมูลกันและกันมากขึ้นเชื่อว่าแม้จะอยู่ภายใต้การแข่งขันก็จะเป็นการแข่งขันร่วมกันอย่างเป็นมิตร” รศ.ดร.จันทร์จรัสกล่าว
ด้านดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวไทยว่า นับตั้งแต่ไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2503 – 2520 ถือเป็นยุคทองของภาคเกษตรไทย เนื่องจากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการตลาด มีความรู้ในการต่อรอง ทั้งยังมีการลงทุนวิจัยด้านการเกษตรอย่างกว้างขวาง ซึ่งในปี 2537 หากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตร (จีดีพีเกษตร) เป็นเงิน 100 บาท ไทยแบ่งงบลงทุนเพื่อการวิจัยถึง 90 สตางค์ แต่ปัจจุบันงบลงทุนเพื่อการวิจัยภาคเกษตรมีไม่ถึง 25 สตางค์จากจีดีพีเกษตร 100 บาท เป็นสาเหตุให้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นไปได้ยาก
ความได้เปรียบด้านการค้าข้าวของไทยในอดีตยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีนโยบายลงโทษเกษตรกรรัฐบาลบังคับซื้อข้าวในราคาถูก เช่น รัฐบาลพม่าเป็นผู้รับซื้อข้าวรายเดียวจากเกษตรกรคล้ายกับนโยบายรับจำนำข้าวในเวลานี้ของไทย ซึ่งทำให้การค้าข้าวในพม่าล้มเหลว โดยเห็นว่าการที่รัฐบาลใช้นโยบายรับจำนำข้าวด้วยการผูกขาดการค้าไว้ที่รัฐบาลเพียงผู้เดียวเป็นการสวนกระแสเพื่อนบ้านที่มีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น
“ประเทศคู่แข่งเรื่องข้าวตอนนี้มีนโยบายที่ดีและเดินหน้าไป ขณะที่ไทยกำลังสวนกระแส กลับมาลงโทษตัวเอง ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าการเมืองไม่ใช่สินค้าธุรกิจ เรากำลังทำลายสิ่งที่เราสร้างมากว่า 100 ปี นับตั้งแต่มีสนธิสัญญาเบาว์ริง (การเริ่มต้นการค้าเสรีทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย) และเดินตามประเทศพัฒนาซึ่งล้มละลายจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรมาแล้ว เช่น ออสเตรเลียซึ่งเคยมีนโยบายรับจำนำรับซื้อขนแกะในราคาสูง จนขนแกะท่วมโกดัง เกิดปัญหาการคลัง เงินไม่พอจ่าย จนต้องมีการปฏิรูป
ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินมากถึง 3.6 แสนล้านบาทกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับงบลงทุนทั้งประเทศที่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์คือเกษตรกรที่มีฐานะดี แต่ภาระหนี้สินตกอยู่ที่ผู้เสียภาษีทั้งประเทศ อนาคตข้าวไทยจึงอยู่ในมือนักการเมือง” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมมีการนำเสนอข้อมูลด้านข้าวจากประเทศต่างๆ โดยนักวิชาการตัวแทนประเทศเวียดนามนำเสนอข้อมูลว่า ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 48.4 ล้านไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง มีระบบชลประทานเข้าถึงพื้นที่ร้อยละ 80 มีปริมาณการใช้ปุ๋ย 32 กิโลกรัมต่อไร่ (200 kg/ha)ผลิตข้าวได้ปีละ 43.4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยในปี 2555 ผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ร้อยละ 30 ส่งไปขายยังประเทศจีน รองลงมา คือ ประเทศฟิลิปปินส์ร้อยละ 16 อินโดนีเซีย ร้อยละ 13 มาเลเซียร้อยละ 11 โดยเห็นว่าประเทศเวียดนามควรพัฒนาคุณภาพข้าวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 – 40
ด้านตัวแทนจากประเทศพม่า นำเสนอข้อมูลว่า พม่าเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนพ.ศ. 2505 แต่ช่วง 50 ปีให้หลังได้กลายเป็นผู้ส่งออกรายเล็กในภูมิภาค (อันดับที่ 8 ของโลกในปี 2551) สาเหตุหลักคือผลผลิตข้าวลดต่ำลง เนื่องจากปัญหาการถือครองที่ดิน ซึ่งชาวนาจำนวนมากไม่มีสิทธิ์ลงทะเบียนใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรเนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ โดยรัฐบาลไม่สามารถปกป้องที่ดินจากการเข้าถือครองแบบผูกขาดของกลุ่มทุนได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดความรู้ในการผลิต ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง และต้องประสบปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งด้วย อย่างไรก็ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากการเปิดประเทศ พม่ามีแนวโน้มผลผลิตข้าวสูงขึ้น โดยในปี 2553 ผลิตข้าวได้ 30 ล้านตันข้าวเปลือก บนพื้นที่เพาะปลูก 50 ล้านไร่ และมีการวิจัยและพัฒนาเรื่องข้าวในวงกว้าง
ขณะที่ตัวแทนจากประเทศลาว นำเสนอข้อมูลว่า ในปี 2553 ลาวมีพื้นที่ปลูกข้าว 5.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด โดยปัจจุบันมีผลผลิตข้าวกว่า 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งข้าวคุณภาพสูงกว่า 6 แสนตัน ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้ประเทศลาวมีจำนวนชาวนาราว 1.87 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และเวลานี้รัฐบาลลาวอยู่ระหว่างการร่างนโยบายเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าว