จ่อโซนนิ่งพืชเพิ่ม 7 ชนิดแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด สั่งสำรวจพื้นที่เกษตรรุกป่าทั่วปท.
กษ.เร่งเดินหน้าโซนนิ่ง จ่อประกาศเขตเหมาะปลูกพืชเพิ่ม 7 ชนิดแก้ผลผลิตล้นตลาด 25 พ.ค.นายกฯนั่งหัวโต๊ะขับเคลื่อน สั่ง ผวจ.ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่เหมาะสม-เกษตรรุกป่า
วันที่ 18 มี.ค. 56 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานประชุมสัมมนา ‘การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม’ ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด ว่า การดำเนินงานเรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมต่อการผลิตทางเกษตร(โซนนิ่ง) ซึ่งกษ.ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืขแล้ว 6 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังยางพาราปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ 5 ชนิดได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ นั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลในปรับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร 150 ล้านไร่
โดยที่ผ่านมาการจัดการเกษตรโซนนิ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง แต่ไม่ได้รับข้อมูลความต้องการจากพื้นที่มาเป็นนโยบายปฏิบัติ โดยขณะนี้ กษ.ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย(มท.) โดยมท.ได้มีหนังสือสั่งการ(วันที่ 11 มี.ค. 56)ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งระดับจังหวัด มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยให้เร่งดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้เป็นประกาศเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ข้อมูลการตลาดเป็นตัวกำหนดปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกัน ทั้งการบริโภคในพื้นที่ การแปรรูป การเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และการส่งออก ว่าในแต่ละพื้นที่นั้นต้องการการสนับสนุนจากรัฐในด้านใดบ้าง
2. ตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อย เพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพหรือการทำการเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวต่ำ ผลผลิตเพียง 300 กก./ไร่ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 12 ล้านไร่ทั่วประเทศ จะมีแนวทางการปรับปรุงอย่างไร หรือสนับสนุนให้เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดใดที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่มากกว่า
และ3. ตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือยู่ในพื้นที่ป่าว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด และจะจัดการอย่างไร รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการผลผลิตการเกษตรจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย
โดยกำหนดให้ทางจังหวัดรายงานข้อมูลดังกล่าวมาภายในวันที่ 31 พ.ค. 56 หลังจากนั้นกษ.จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายหรือโครงการในการสนับสนุนการพัฒนาการผลิต หรือปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรของประเทศให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดในระยะยาวต่อไป โดยจะดำเนินนโยบายโซนนิ่งควบคู่กับการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วย
รมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 25 พ.ค. 56 นายกรัฐมนตรีจะประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อการเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายเกษตรโซนนิ่ง ทั้งนี้ในเดือนเม.ย. 2556 กษ.จะประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มเติม 2 ชนิด ได้แก่ ลำไยและสับปะรดโรงงาน และในเดือน พ.ค.จะประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจอีก 5 ชนิด ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน มะพร้าวและกาแฟ ด้วย
ด้านนายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รองปลัด กษ.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ การประกาศเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชและปศุสัตว์ของกระทรวงฯนั้น เป็นการประกาศเฉพาะเขตที่มีความเหมาะสมสูงและเหมาะสมปานกลาง อย่างไรก็ดีการประกาศเขตโซนนิ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับจังหวัดจะต้องไปตรวจสอบ หากเห็นว่ามีพื้นที่ใดควรประกาศเป็นเขตเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดหนึ่งๆเพิ่ม หรือควรเปลี่ยนแปลงไปปลูกพืชชนิดอื่นที่เหมาะสมกว่า ให้ทางจังหวัดแจ้งไปยังสำนักงานพัฒนาที่ดินเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขและหาแนวทางร่วมกันโดยยึดความต้องการและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่
โดยนับจากนี้เป็นหน้าที่ของเกษตรและสหกรณ์จังหวัดและหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการทำความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว รวมทั้งกำหนดมาตรการจูงใจเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาปลูกพืชตามเขตโซนนิ่งที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้สำหรับมาตรการที่กษ.เตรียมไว้สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในที่เหมาะสมคือ 1.ด้านการให้ความรู้ เช่น เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2.ด้านการเงินการคลัง เช่น จัดหาแหล่งเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การทำประกันพืชผล 3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จัดหาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน ระบบโลจิสติกส์ 4.ด้านการตลาด เช่น ระบบตลาดกลางสินค้าเกษตร ตลาดการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การเชื่อมโยงการผลิตกับตลาด และ5. ด้านราคาผลผลิต ราคาผลผลิตที่เกษตรกรในพื้นที่โซนนิ่งขายได้ควรมีราคาสูง
ด้านมาตรการสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ความรู้เป็นข้อมูลทางเลือกในการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดหาแหล่งเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับเปลี่ยนผลผลิต โดยมีการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการตลาดเช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่โซนนิ่ง