พิมพ์เขียว8โมเดล ปกครองพิเศษชายแดนใต้
การเปิดตัวลงนามเพื่อริเริ่มกระบวนการพูดคุยเจรจากับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพื่อดับไฟใต้ แม้จะมีบางฝ่ายไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการ แต่ในเรื่องหลักการแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธ
แต่ประเด็นที่กำลังเป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง และโต้เถียงกันของฝ่ายต่างๆ กลายเป็นประเด็น "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" หลังจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตอบคำถามนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การพูดคุยเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น สุดท้ายคงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดคุยเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ"
คำๆ นี้ถ้าถาม นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. เขาจะบอกทันทีว่ายังไม่ถึงเวลาพูด และต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนไทยจำนวนไม่น้อย "ฟังแล้วจี๊ด" เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นรูปแบบ "การปกครองตนเอง" หรือ autonomy จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไทยมาตรา 1 บัญญัติเอาไว้ว่าราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้!
จริงๆ แล้วเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" เท่าที่เสนอกันมาในระยะหลัง ถ้าจะเรียกให้ถูกตามเจตนารมณ์ของฝ่ายที่เสนอและสนับสนุนก็ต้องบอกว่าเป็น "รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" บางคนต่อท้ายเพื่อความมั่นใจเข้าไปด้วยว่า "ภายใต้รัฐธรรมนูญ" เพื่อย้ำว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (มาตรา 1) แน่ๆ
แนวคิดนี้ถูกพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปลายปี 2552 โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ข้อเสนอเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษชายแดนใต้ของ พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งใน 3 ยุทธศาสตร์ที่เขาพูดมาตลอด คือ
1.ยุทธศาสตร์ดอกไม้หลากสี เพื่อการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย
2.ยุทธศาสตร์ถอยคนละ 3 ก้าว เพื่อให้มีพื้นที่พูดจาทำความเข้าใจกัน และ
3.ยุทธศาสตร์นครปัตตานี เพื่อฟื้นความยิ่งใหญ่ของดินแดนปลายสุดด้านขวามของไทย ด้วยการให้สิทธิในการกำหนดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
แนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ถูกบิดเบือนจากบางฝ่าย โดยเติมคำว่า "รัฐ" เข้าไปในคำว่า "นครปัตตานี" กลายเป็น "นครรัฐปัตตานี" และพูดให้เข้าใจว่าหมายถึงการแยกตัวออกไปตั้ง "เขตปกครองตนเอง" ในบริบทของ autonomy จนทำให้ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี ภาคการเมืองฝั่งพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ชายแดนใต้กลับเห็นว่าแนวคิดนี้น่าจะ "ขายได้" จึงเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่องมา ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์คำว่า "นครปัตตานี" คู่กับรูปผู้สมัคร และรูป พล.อ.ชวลิต อย่างชัดเจนแทบทุกพื้นที่ มีการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ.... เตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรทันทีหากได้รับเลือกตั้งด้วย
ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ก็มองเห็นคล้ายๆ กันว่า แนวทางการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษน่าจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 25 องค์กร เริ่มเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ "การกระจายอำนาจและการปกครองพิเศษ"
ต่อมาเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ได้ยกระดับเป็น "สภาประชาสังคมชายแดนใต้" โดยมีสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด และได้เปิดเวทีใหญ่น้อยราว 200 เวที ทั้งรับฟังความคิดเห็นและเสนอความคิดเห็นต่อประชาชนเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ กระทั่งกลั่นกรองออกมาได้ 6 รูปแบบ เตรียมประกาศอย่างเป็นทางการในงานสมัชชาปฏิรูปชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 2 วันที่ 28 เม.ย.ที่จะถึงนี้
อนึ่ง ทั้งรูปแบบ "นครปัตตานี" และรูปแบบที่เสนอโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ มีหลักการใกล้เคียงกัน คือ รวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (บางรูปแบบรวมพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย) เพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และมีผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
อย่างไรก็ดี ยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวทาง "นครปัตตานี" เช่น ทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้เสนอรูปแบบการกระจายอำนาจของตนเองเอาไว้ด้วยเช่นกัน
สรุปจนถึงขณะนี้จึงมี "รูปแบบ" หรือ "โมเดล" การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ รวม 8 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
รูปแบบที่หนึ่ง "นครปัตตานี" ของพรรคเพื่อไทย มีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ.... ทั้งหมด 121 มาตรา กำหนดให้ผู้ว่าการนครปัตตานีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนบริหารพื้นที่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะรัฐมนตรีและต่อรัฐสภาทุกปี
ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับความมั่นคง ยังคงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นยังกำหนดให้การปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าการนครปัตตานี หากกระทรวง ทบวง กรมใดเห็นสมควรส่งข้าราชการไปประจำที่นครปัตตานี ต้องทำความตกลงกับนครปัตตานีด้วย
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยชูประเด็นนี้ขึ้นเป็นประเด็นรณรงค์หาเสียง กลับไม่มีผู้สมัครคนใดของพรรคได้รับเลือกตั้งเลย จาก 11 เขตเลือกตั้งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การผลักดันเรื่องนี้สะดุดไป ทว่าล่าสุดเมื่อมีกระแสเรื่องการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2556 ก็มีข่าวว่าทีมงานของพรรคเพื่อไทยกำลังยกร่างร่างพระราชบัญญัติมหานครปัตตานี พ.ศ....ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง
รูปแบบที่ 2-7 เป็นข้อเสนอจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ดังนี้
- รูปแบบ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เลขาธิการ ศอ.บต.มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.บต. มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ร่วมกำกับทิศทางและกลั่นกรองการทำงาน ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. และเทศบาล ยังคงอยู่เหมือนเดิม
- รูปแบบทบวง มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีปลัดทบวงเป็นข้าราชการประจำ ส่วนรองปลัดทบวงมี 3 คน ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัดในปัจจุบัน ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานในแต่ละจังหวัด
นอกจากนั้นยังให้มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากการเลือกตั้งตัวแทนกลุ่มอาชีพ มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและงบประมาณของทบวง ส่วน อบต. อบจ.และเทศบาลยังคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ให้เพิ่มสภาท้องถิ่นในลักษณะ "สภาซูรอ" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและผู้นำศาสนาจากการสรรหา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือ
- รูปแบบสามนครสองชั้น ให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นรายจังหวัด และให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แต่ยังคงเทศบาล กับ อบต.เอาไว้ โครงสร้างการบริหารงานจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการเลือกตั้ง สภาจังหวัดจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น
- รูปแบบสามนครหนึ่งชั้น คล้ายกับสามนครสองชั้น แต่ให้ยุบเลิกราชการส่วนท้องถิ่น คือ อบต. อบจ.และเทศบาล
- รูปแบบมหานครสองชั้น ให้มีผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง ส่วน อบต. และเทศบาลยังคงไว้ตามเดิมเพื่อให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย ผู้ว่าฯและสภามหานครมีอำนาจการบริหารครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี)
- รูปแบบมหานครหนึ่งชั้น เหมือนกับรูปแบบมหานครสองชั้น เพียงแต่ให้ยุบเลิก อบต. อบจ. รวมทั้งเทศบาล แล้วให้มีสภาเขตที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขตขึ้นแทน
รูปแบบที่ 8 นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า การตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษรูปแบบใหม่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งยังมีปัญหาความไม่มั่นคงอยู่ จึงเห็นควรให้ลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนอยู่แล้วแทน
รูปแบบนี้จะไม่ส่งกระทบต่อโครงร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม และไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ตามมา
นอกจากนั้นยังมีแนวคิดของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.เอง ที่เคยเสนอว่า ให้เลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต.โดยตรงจากประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วนำคนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คนแรกส่งให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาเป็นผู้ลงคะแนนคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบที่มีการนำเสนอตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา และทุกฝ่ายคงต้องเปิดใจหารือเพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจาก 8 รูปแบบที่มีการนำเสนอนี้ก็ได้ เพราะทิศทางการ "กระจายอำนาจ" เป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นที่ถูกต้อง ถูกทาง และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
สิ่งสำคัญที่สุดคือรูปแบบการปกครองใหม่ต้องตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านให้ได้ มิใช่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในพื้นที่!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยช่วงรณรงค์เลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค.2554 สนับสนุนแนวทาง "นครปัตตานี" ของ พล.อ.ชวลิต อย่างชัดเจน