สแกน"ความมั่นคงแนวใหม่?" สมช.-ไฟใต้ในเงา "ภราดร พัฒนถาบุตร"
กระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปร่วมลงนามถึงประเทศมาเลเซียนั้น กำลังกลายเป็นประเด็นขัดแย้งในบ้านเราเองเสียแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อ พล.ท.ภราดร ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเงื่อนไขในขั้นตอนการเจรจาดับไฟใต้ ทำนองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องหยิบยกประเด็น "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นมาพูดคุยกัน
งานนี้แม้จะเป็นการ "ถามนำ" แต่เมื่อคนระดับเลขาธิการ สมช.ตอบในลักษณะ "เซย์ เยส" ก็เลย "เป็นเรื่อง" โดยเฉพาะเรื่อง "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" หลายคนที่เคยพูดในอดีตก็ถึงขั้นเสียผู้เสียคนกันมาแล้ว ยกตัวอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551
หลายฝ่ายมองว่าการตอบคำถามของเลขาธิการ สมช. ทำให้ดูประหนึ่งว่ารัฐ (หรือรัฐบาล) ล็อคคำตอบไว้แล้วว่าสุดท้ายต้องพูดคุยกันเรื่องอะไรกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่ฝ่ายโน้นยังไม่ได้ "เรียกร้อง" หรือ "ตั้งเงื่อนไข" ในเรื่องใดอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ
ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมาธิการหลายชุดทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ถึงกับบอกว่า ถ้าตั้งธงกันล่วงหน้าแบบนี้ ก็ไม่รู้จะพูดคุยเจรจากันไปทำไม ที่สำคัญก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงาน 15 คนที่ว่าจะมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม กลุ่มอาชีพ และศาสนาในพื้นที่ไปพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น เพราะรู้คำตอบล่วงหน้าอยู่แล้ว
ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูเกี่ยวกับบทบาทของ พล.ท.ภราดร ในฐานะเลขาธิการ สมช.
นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวว่า เรื่องการลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนมาตั้งแต่แรก แม้ภาพจะดูดี มีคนระดับเลขาธิการ สมช.ที่รัฐบาลให้ความเห็นชอบไปลงนาม แต่ถึงที่สุดแล้วจะเกิดผลเสียตามมา
"จริงๆ ประเด็นต่างๆ ที่ต้องนำมาพูดคุยกันนั้น ฝ่ายข้าราชการประจำต้องทำให้เรียบร้อยเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวคณะทำงานที่จะไปพูดคุย รวมถึงคนที่ไปพูดคุยด้วยเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม ถ้าเป็นตัวจริงแล้วการพูดคุยจะทำกันอย่างไร ประเด็นที่จะพูดคุยกันต่อไปมีอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้ต้องจบก่อนถึงจะนำไปสู่ขั้นตอนการลงนาม แต่นี่ยังไม่มีอะไรชัดเจนเลย"
"เมื่อความชัดเจนไม่มี พอเปิดตัวลงนามเป็นข่าวใหญ่โต กระแสทุกอย่างก็ต้องพุ่งไปที่ตัวเลขาฯสมช.ในฐานะคนไปลงนาม ทุกคนก็ต้องถามท่านว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ จะทำอะไรต่อ นครปัตตานีจะเอาอย่างไร นี่คือปัญหา และต้นตอของปัญหาคือมันเริ่มผิดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ผู้ใหญ่ (เลขาธิการ สมช.) ต้องมาตอบในเรื่องเหล่านี้"
ในฐานะอดีตเลขาธิการ สมช.ที่ทำงานพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาไม่น้อย บอกด้วยว่า การให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับเลขาธิการ สมช.ไปลงนาม ทั้งๆ ที่ยังไม่มีอะไรพร้อมเลยเช่นนี้ เป็นการยกฐานะหรือสร้างราคาให้ฝ่ายที่ไปพูดคุยด้วยมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี และข้อต่อรองจากกลุ่มเหล่านี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เจ้าของฉายาซีไอเอเมืองไทย อดีตเลขาธิการ สมช.ระดับตำนานในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวระหว่างร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า รู้สึกแปลกใจว่าเลขาธิการ สมช.ออกมาพูดเรื่องนครปัตตานีและเขตปกครองพิเศษได้อย่างไร เพราะจะทำให้เข้าทางกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทั้งบีอาร์เอ็นและพูโล
ส่วน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การทำ peace dialogue หรือการพูดคุยสันติภาพ หลักการสำคัญคืออย่าให้คนใดคนหนึ่งเป็นฮีโร่ แต่ต้องทำงานเป็นทีม และทีมที่ว่าก็มีองค์ประกอบอยู่แล้วในข้อ 8 ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ถือเป็น core group ที่ต้องทำงานเป็นคณะ ไม่ใช่คนคนเดียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็น "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" เป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดประเด็นหนึ่งในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งหากวางจังหวะเวลาการเปิดประเด็นและทำความเข้าใจกับสังคมได้ไม่ดีพอ ย่อมมีโอกาสที่กระบวนการสันติภาพจะล้มได้เหมือนกัน
เพราะเพียงเริ่มแรกก็ได้ยินเสียงคำรามจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่า "ยังไม่ไปถึงข้อสรุปเช่นนั้น ท่าน (พล.ท.ภราดร) อาจจะพูดเลยไปนิดหนึ่ง...เรื่องการพูดคุยยังไม่ได้ตกลงอะไรกันทั้งสิ้น ไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร"
ล่าสุดมีข่าวกระเซ็นกระสายมาว่า มีการส่งสัญญาณเตือนจากสถาบันพระปกเกล้า และคนในรัฐบาลเองให้ พล.ท.ภราดร เพลาๆ การให้สัมภาษณ์ลง โดยเฉพาะเรื่องการพูดคุยดับไฟใต้ และนครปัตตานี
ตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่แล้ว บทบาทของ พล.ท.ภราดร ถูกวิจารณ์อย่างมากในแง่ของการพูดเร็ว พูดเยอะ และตอบทุกเรื่อง ผิดกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในอดีต ซึ่งเป็นดั่งผู้กำหนดทิศทางนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ เลขาธิการ สมช.หลายๆ คนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแสดงตัวเป็นอิสระจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำ
แต่สำหรับ พล.ท.ภราดร ต้องบอกว่าทำตัวเป็นดั่ง "ลูกคู่" ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์ตอนเช้ากับตอนบ่ายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว กรณีข่าวการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เมื่อต้นเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเปิดประเด็นโดย นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง
ตอนแรก พล.ท.ภราดร เหมือนยังไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าว ก็วิเคราะห์ไปตามสถานการณ์ว่าไม่น่าจะมีแผนลอบสังหารเกิดขึ้น แต่ภายหลังเมื่อชัดเจนว่าเป็นการเปิดประเด็นจากใคร (มองในแง่ดีอาจมีการไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม) ก็มาให้สัมภาษณ์ใหม่ และบอกว่าข่าวลอบสังหารมีมูล!
พล.ท.ภราดร เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) แต่ไม่ได้เติบโตในกองทัพ เพราะข้ามห้วยไปทำงานใน สมช.ค่อนข้างนาน เขาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สมช.ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมี พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เป็นเลขาธิการ สมช. โดยได้รับการวางตัวให้เป็นเลขาธิการ สมช.ต่อจาก พล.ท.สุรพล
ทว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลเมื่อปลายปี 2551 พล.ท.ภราดร ก็กระเด้งกระดอนจาก สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอย่างยาวนาน ก่อนจะหวนคืนสู่สภาความมั่นคงแห่งชาติอีกครั้งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และผงาดขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.คนที่ 17 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2555
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของงานสายความมั่นคง เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเคยมี "บุญคุณต้องทดแทน" กับ นายปรีดา พัฒนถาบุตร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.ท.ภราดร มีศักดิ์เป็นหลาน
เส้นทางการทำงาน ตลอดจนชีวิตส่วนตัวที่สนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และตระกูลชินวัตรนั้น พล.ท.ภราดร ไม่เคยปฏิเสธ ซ้ำยังสำทับด้วยว่าไม่ได้ใกล้ชิดกันในเฉพาะรุ่นของเขา แต่ยังสืบสายสัมพันธ์ยาวนานไปถึงรุ่นคุณพ่อ คือ พล.ท.กอบบุญ พัฒนถาบุตร กับ นายเลิศ ชินวัตร บิดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เลยทีเดียว
กับบทบาทในฐานะเลขาธิการ สมช.ที่เน้นให้ข่าวรายวัน เปิดสายให้สัมภาษณ์ทุกสื่อทุกเวลา พล.ท.ภราดร เคยกล่าวเอาไว้ว่า ถือเป็นงานความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ต้องรับมือกับการไหลทะลักของข้อมูลข่าวสาร
"สมช.ในยุคปัจจุบันต้องเป็นผู้ให้ข่าว ไม่อย่างนั้นไม่ทัน เพราะข่าวไปเร็วมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่งแบบนี้ ถ้าเป็นข่าวผิดหรือสร้างความเข้าใจผิดจะยิ่งก่อความเสียหายใหญ่โต"
สอดรับกับข้อมูลจากคนใกล้ชิดของ พล.ท.ภราดร ที่บอกว่า "ท่านเลขาฯใช้วิธีเล่นกับสื่อ เป็นผู้กำหนดวาระข่าวเองเพื่อเบี่ยงความสนใจของสื่อออกจากรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทำงานได้ง่ายขึ้น"
แม้จะเป็นคำอธิบายที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องรอประเมินผลกันต่อไปว่า งานความมั่นคงรูปแบบใหม่ในมุมมองของ พล.ท.ภราดร จะเวิร์คจริงหรือไม่ หรือจะยิ่งสร้างปัญหาให้สับสนอลหม่านมากขึ้นกันแน่...
แต่ดูเหมือนหลายคนจะมีคำตอบอยู่แล้วจากกรณีนครปัตตานี!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร