‘สื่อภาคประชาชนเพื่อคนชายขอบ” : 3ทรรศนะคน(เคย)ทำสื่อ
ข่าวชาวบ้าน(ยกเว้นเรื่องแปลกพิสดาร) เบียดเข้าไปแทรกในสื่อหลักเพียงไม่กี่บรรทัด-วินาทีก็นับว่าดี แต่ไม่กี่ปีมานี้ความเดือดร้อนจากพื้นที่สะท้อนสู่สาธารณะผ่านสื่อต่างๆมากขึ้นพร้อมคำว่า “สื่อภาคประชาชน”
‘ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี’ : อดีตทีมสื่อสมัชชาคนจน
เบื้องหลังเสียงสะท้อนต้านเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้น
เป็นหนึ่งในกองเลขานุการกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลยาวนานที่สุดกว่า 3 เดือน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชน ก่อนจะผันตัวมาเป็นชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ สมาชิกกลุ่มราษฎร์รักป่า ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ยมบน-แม่ยมล่าง ภายใต้นโยบายจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
“สมัยสมัชชาคนจน การกดดันต่อรองเจรจาประสบความสำเร็จได้ สื่อถือว่ามีความสำคัญ และโน้มเอียงมาทางคนจนเพราะรัฐบาลช่วงนั้นแย่ คอร์รัปชั่นกันมูมมาม เรามีนัดแถลงทุกวันตอนบ่ายสาม หนังสือพิมพ์ ทีวีจะรอทุกวัน มีตั้ง 121 กรณีปัญหาจาก 7 เครือข่าย กระบวนการของสมัชชาคนจนจึงมีพลัง และก็เกิดเครือข่ายสื่อที่นำเสนอปัญหาชาวบ้าน”
วันนี้เรื่องแก่งเสือเต้น ชาวสะเอียบก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผมเรียบเรียง-ถ่ายรูป เขียนเป็นข่าว นำเสนอไปยังเครือข่ายสื่อและเอ็นจีโอ เพื่อส่งต่อเรื่องราวสู่สาธารณะผ่านทั้งสื่อกระแสหลัก รวมทั้งสื่อใหม่ๆที่หลากหลายซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“พักหลังมานี้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องชาวบ้านมันหายๆไปอีก สื่อกระแสหลักโดนทุนซื้อไปหมด อย่างเรื่องต้านแก่งเสือเต้น สื่อหลักไม่ค่อยสนใจคงคิดว่าที่ไม่สำคัญเปลืองพื้นที่ ยกเว้นเรื่องที่แรงๆ เช่น เผาหุ่นปลอดประสพ หรือ ชาวบ้านไล่บริษัทซัมซุงที่จะเข้ามาการจัดการลุ่มน้ำยม ถึงจะสนใจมาตามต่อ แต่ถ้าเราบวชป่าเป็นพันคนอย่างนี้ เขาก็ไม่สน แต่ก็ยังคอยรายงานส่งไปให้เขารับรู้ไว้อยู่เรื่อยๆ...ก็ยังดี”
โซเชี่ยลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค เป็นทางออกหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวของชาวบ้าน ภายใต้หน้าเพจ ‘ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น’ ซึ่งมีจำนวนเพื่อนเต็ม 5,000 คน และมีจำนวนผู้ติดตาม (Follower) กว่า 2,000 คน
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของชาวสะเอียบในการรักษาป่าสักทองลุ่มน้ำยม-ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็มักปรากฏในเว็บไซต์สื่อนอกกระแส ซึ่งแม้สื่อใหม่จะยังไม่สามารถจุดกระแสสังคมให้เคลื่อนไหวตามได้ทุกครั้ง แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ช่วยสะท้อนเสียงของชาวบ้านให้ดังได้มากขึ้น และนั่นก็ช่วยทำให้พวกเราชาวสะเอียบยังมีแรงอยู่
‘วิชาญ อุ่นอก’: ประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งประเทศไทย
“สื่อภาคประชาชน เด่นข้อมูลเชิงลึก ด้อยประเด็นสาธารณะ”
กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการถือครองและใช้ประโยชน์จากป่า ทำให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสื่อที่จะถ่ายทอดสภาพปัญหาสู่สังคมได้ดีเท่ากับรัฐซึ่งมีสื่อมากมายอยู่ในมือ จึงทำให้ผมและชาวบ้านในท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดตั้ง ‘สถานีวิทยุชุมชนต้นแบบ 100.75จ.กาญจนบุรี’ ในปี 2544 ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อสังคม พร้อมจัดตั้งสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติปลายปี 2545 ขับเคลื่อนงานด้านวิทยุชุมชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงชาวบ้าน ปัจจุบันมีสมาชิก 150 สถานี
ปัจจุบันสื่อภาคประชาชนมีพัฒนาการเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากอดีตที่ประชาชนเป็นผู้รับสื่อจากรัฐฝ่ายเดียว ได้ลุกขึ้นมาทำสื่อเอง แต่ยังขาดทักษะการสื่อสารและมักใช้อารมณ์ความรู้สึกในการเผยแพร่ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าวิทยุชนชนซึ่งสะท้อนเรื่องราวท้องถิ่น นับเป็นสื่อภาคประชาชนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงชุมชนใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุด แต่แม้สื่อภาคประชาชนจะมีข้อมูลเชิงลึกเพราะอยู่ในพื้นที่สถานการณ์จริง แต่ยังไม่สามารถผลักดันปัญหาชาวบ้านให้เป็นประเด็นสาธารณะ หรือหาวิธีการเชื่อมโยงกับแหล่งข่าวที่มีอำนาจได้ดีเท่าสื่อกระแสหลัก
ดังนั้นควรมีการประสานงานและแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างสื่อภาคประชาชนกับสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างกรณีเกิดเหตุการณ์ในท้องถิ่น สื่อกระแสหลักไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง แต่ประสานสื่อภาคประชาชนในพื้นที่ และต่อยอดเป็นประเด็นสาธารณะต่อไป
“กรณีการปล่อยสารตะกั่วลงแม่น้ำที่ อ.ทองผาภูมิ แรกเริ่มสื่อกระแสหลักไม่สนใจ แต่เมื่อวิทยุชุมชนกาญจนบุรีนำเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ และสื่อกระแสหลักนำมาขยายผลเสนอต่อสาธารณะ จนคดีถึงที่สุด”
ผมมองว่าสื่อภาคประชาชน โดยเฉพาะวิทยุชุมชน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้มีสัดส่วนและศักยภาพเทียบเท่าสื่อภาครัฐ และสื่อธุรกิจ เพื่อจะได้เติบโตเป็นสื่อ 3 เสาหลักสมดุลเพื่อประโยชน์สังคม
‘ภาสกร จำลองราช’ : อดีตนักข่าวมติชน
“สื่อทางเลือกพลังน้อย แต่เป็นความหวังชาวบ้าน”
“ผมไม่รู้ว่านิยามสื่อภาคประชาชนคืออะไร ถ้าหมายถึงสื่อที่ทำงานกับปัญหาชาวบ้านหรือคนเล็กคนน้อยในสังคม นั่นเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพนักข่าวที่ทำข่าวกันหลากหลายอยู่แล้ว เพียงแต่ให้น้ำหนักไปทางใดเท่านั้น”
ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวสายการเมืองและสายแรงงาน บอกว่าเมื่อผ่านไป 10 ปีเริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการทำข่าวประเภทนี้ เกิดคำถามว่า “ทำแล้วสังคมมีความหวังดีขี้นอย่างไร” เช่น ‘การงาบค่าหัวคิวส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ’ ที่เคยเจาะข่าวแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะอยากเห็นระบบเอื้ออาทรกับคนงาน จึงสะท้อนภาพคนที่ฉ้อราษฏร์บังหลวง จนระดับปลัดกระทรวง อธิบดีถูกไล่ออก แต่ผ่านไป 10 ปีวงจรดังกล่าวกลับหวนคืนมาเหมือนเดิม เหมือนโยนก้อนหินลงบนจอกแหน
แต่ไม่อยากให้คนทำข่าวท้อแท้ท้อถอยกับสถานการณ์การทุจริตในสังคมไทย ใครมีพลังก็ต้องทำกันไป แต่สำหรับตัวผมการหันมาทำข่าวคนเล็กคนน้อยในสังคม แต่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น กลับทำให้รู้สึกอิ่มเอมมากกว่า เช่น การนำเสนอเรื่องราวของ ‘น้อย’ เยาวชนที่หมู่บ้านบะไห จ.อุบลราชธานี ที่คนในหมู่บ้านนี้แทบทั้งหมดไร้สัญชาติ น้อยเกิดฝั่งลาวมีแม่เป็นคนลาว แต่พอเป็นคนไทย อพยพมาไทยตั้งแต่เด็กจึงควรได้รับสัญชาติไทย แต่กลับไม่ได้เพราะกลไกระบบราชการที่ล่าช้า
“กรณีของน้อยต้องตามจี้กันไปถึงทำเนียบฯและคณะกรรมาธิการฯ การที่เราเคยทำข่าวการเมืองมาก่อน รู้จักระบบ รู้จักนิสัยนักการเมือง ทำให้สามารถเคลื่อนข่าวไปได้ถูกทาง จนสุดท้ายได้บัตรประชาชน สำหรับผมแล้วบางทีค่าของข่าวเป็นความรู้สึกมากกว่า ผลตอบแทนอื่นๆซึ่งเป็นผลข้างเคียง”
อดีตและปัจจุบันสำนักข่าวต่างๆ มักวางตัวนักข่าวมุ่งเน้นไปที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะที่งานภาคประชาชนไม่มีการเกาะเกี่ยวชัดเจน นอกจากจะเป็นประเด็นใหญ่ หรือเป็นความสนใจของนักข่าวแต่ละคนเอง ดังนั้นกว่านักข่าวส่วนกลางจะพบเห็นปัญหาของชาวบ้านก็ต่อเมื่อมีการยกขบวนมาประท้วงในกรุงเทพฯ เป็นช่องว่างในการนำเสนอปัญหาชาวบ้านของสื่อกระแสหลัก
“บางครั้งแม้มีการประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าเพื่อนนักข่าวทำมาก็ขอด้วยถ้าเป็นเรื่องน่าสนใจ พอเข้าใจนักข่าวได้เหมือนกันเพราะบางช่วงบางเวลามีกลุ่มชาวบ้านมาเรียกร้องหลายกลุ่ม ขณะที่งานประจำก็ล้นทะลัก”
ปัจจุบันหลายสำนักข่าวให้ความสำคัญกับข่าวชาวบ้านมากขึ้น โทรทัศน์หลายช่องมีรายการเจาะลึกปัญหาชาวบ้านและชุมชน สื่อทางเลือกต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีแต่ยังไม่พอ เพราะสื่อทางเลือกยังขาดพลังจะผลักดันประเด็นข่าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แตกต่างกับหนังสือพิมพ์หัวใหญ่หรือสื่อโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวไม่กี่วันจะมีหน่วยงานออกมารับลูกทันที แต่สื่อทางเลือกเหล่านี้กำลังกลายเป็นที่คาดหวังของชาวบ้านมากขึ้น เพราะสื่อกระแสหลักบางส่วนได้แสดงตัวออกมาชัดเจนว่าเลือกข้างทุนเพื่อความอยู่
ในสถานการณ์ความขัดแย้งสูงของสังคมที่มักใช้พลังมวลชนเป็นเครื่องมือ จำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไปของมวลชนแต่ละกลุ่ม กลุ่มนี้จัดตั้งโดยใครหรือมาเพราะปัญหาแท้จริง นักข่าวจะมองกลุ่มชาวบ้านกลมๆเหมือนกันหมดไม่ได้ เช่น ชาวบ้านหลายพื้นที่เรียกร้องโฉนดชุมชน แต่เพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง หากเราไม่รู้ว่าชุมชนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ได้รับสิทธิก่อนพื้นที่อื่น
“สุดท้ายคิดว่าในอนาคตภาคประชาชนจะหาช่องทางสื่อสารต่อสังคมด้วยวิธีการหลากหลายขึ้น แต่ขนาดเป้าหมายจะเล็กลง ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชนหรือตัวชาวบ้านเจ้าของปัญหาเองจะทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารถ่ายทอดข้อเท็จจริงสู่สังคมกันมากขึ้น แม้กระบวนการข่าวจะยังไม่ครบถ้วนหรือหลากหลายมุมเหมือนนักข่าวอาชีพ ส่วนนักข่าวส่วนกลางหากไม่เร่งพัฒนาศักยภาพก็จะถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ” .
ที่มาภาพ ::: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1347000875&grpid=03&catid=03