ตั้งศูนย์สารสนเทศข้าวแห่งชาติ ลดต้นทุนผลิต 30 % นำร่องพื้นที่โซนนิ่ง
กษ.ดันตั้งศูนย์สารสนเทศข้าวแห่งชาติ รวบข้อมูลการผลิต-ตลาด ถกลดต้นทุน 30 % นำร่องพื้นที่โซนนิ่ง –หนุนพันธุ์เหมาะพื้นที่
วันที่ 15 มี.ค. 56 ที่กรมการข้าว นาย ยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานวันสถาปนากรมการข้าว เนื่องในโอกาส ครบรอบปีที่ 7 ว่า ได้มอบหมายให้กรมการข้าวดำเนินการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศข้าวแห่งชาติขึ้นในกรมฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้าวของประเทศที่จะรวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยด้านข้าวจากภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบไปจนถึงความเคลื่อนไหวด้านการตลาด เพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมการข้าวมีบทบาทในการส่งเสริมพื้นที่ซึ่งได้ประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจด้านการปลูกข้าว (โซนนิ่ง) โดยส่งเสริมสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม รวมถึงการรับรองพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณการใช้ต่อปีถึงล้านกว่าตัน เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันระหว่างข้าวไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ปลัด กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการลดต้นทุนสินค้าเกษตรถึงมาตรการการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร 6 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ประมง และเครื่องจักรกลทางเกษตร ว่า มาตรการลดต้นทุนการผลิตข้าว ณ วันนี้ มีความชัดเจนเนื่องจากมีการดำเนินการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ 20 จังหวัด โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 30 ซึ่งจากนี้ไปกระทรวงฯจะนำเทคโนโลยีการลดต้นทุนผลิตข้าวไปขยายผลในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวตามนโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง)
โดยคณะอนุกรรมการลดต้นทุนสินค้าเกษตรด้านเครื่องจักรกลการเกษตรจะเข้ามาร่วมมือกับคณะอนุกรรมการฯด้านข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยใช้เครื่องจักรกลร่วมด้วย ซึ่งน่าจะช่วยให้อนาคตข้างหน้ากระทรวงฯสามารถหาแนวทางลดต้นทุนผลิตข้าวได้มากกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้จะนำข้อมูลการศึกษาวิจัยมอบให้ทางจังหวัดเพื่อทำเป็นแผนการปลูกข้าวรายจังหวัดต่อไป
สำหรับมาตรการการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นได้แก่ พืชไร่ คณะทำงานได้เลือกนำร่องศึกษาพืช 2 ชนิดได้แก่ มันสำปะหลังและข้าวโพด โดยมีนำเทคโนโลยีการระเบิดดินดานมาเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังได้ร้อยละ 19 , พืชสวน ได้ดำเนินการศึกษานำร่องกับพืช 3 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง และผักกินใบ ซึ่งในภาพรวมแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกรวมกันประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยจะกำหนดมาตรการลดต้นทุนด้วยการจัดการดิน น้ำและการใช้เครื่องจักรกลร่วม,
ปศุสัตว์ ศึกษานำร่องการลดต้นทุนสินค้า 3 ชนิด ได้แก่ โคนม โคเนื้อ และสุกร โดยพบว่าการลดต้นทุนผลิตสินค้ากลุ่มนี้แปรผันตรงกับเขตที่ตั้งการผลิตซึ่งใกล้แหล่งตลาด ดังนั้นจึงจะเน้นส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าในพื้นที่ที่สอดคล้องกับนโยบายโซนนิ่ง, และสินค้าประมง ศึกษานำร่องสินค้า กุ้งขาว และปลานิล ซึ่งเกษตรกรเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยจะใช้เทคโนโลยีการให้อาหารสัตว์มาควบคุมปริมาณการให้อาหารที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้ยุบคณะอนุกรรมการการลดต้นทุนสินค้าเกษตรด้านเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากการลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์มีความเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตเกษตรซึ่งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก จึงจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตอื่นได้ อย่างไรก็ดีคณะอนุกรรมการฯด้านเมล็ดพันธุ์จะทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการฯด้านพืชไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้เมล็ดพันธุ์ในการผลิตจำนวนมาก โดยจะร่วมมือกันหาแนวทางลดต้นทุนปัจจัยการผลิตส่วนอื่นแทน
ปลัด กษ. กล่าวถึงแนวทางเผยแพร่ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร ว่า หลังจากคณะกรรมการฯสามารถหาวิธีการหรือเทคโนโลยีใหม่ในการลดต้นทุนที่ได้มาตรฐานในสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว จะมีการจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเกษตรกร และให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่โดยเร็ว
ที่มาภาพ ::: http://www.thai-farmer.com/thaifarmer/?p=291