ประเมินวงถกบีอาร์เอ็น กับ3ประเด็นที่ต้องคุย
แค่ไม่ถึงครึ่งเดือนหลังพิธีลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้กับบุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น บรรยากาศในสังคมไทยบางส่วน โดยเฉพาะสังคมการเมืองก็เริ่มตึงเครียดและถกเถียงกันแล้วในเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ"
โดยเฉพาะเมื่อ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ ตอบคำถาม (นำ) ของผู้สื่อข่าวทำนองว่าประเด็นเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" (ที่เรียกกันว่านครรัฐปัตตานี, นครปัตตานี หรืออื่นๆ) มีโอกาสที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยเจรจากัน และปลายทางของกระบวนการสันติภาพก็อาจหนีไม่พ้นเรื่องนี้
เท่านั้นเอง พล.ท.ภราดร และกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเดินหน้าก็ถูกระดมปาด้วยก้อนอิฐจากหลายฝ่าย โดยนำไปผูกโยงกับความเชื่อในแง่ที่ว่า การยอมให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" เท่ากับการเสียดินแดน หรือเสียอำนาจการครอบครองดินแดนบางส่วนของราชอาณาจักรไทย มีการใช้คำที่ทำให้สับสน เช่น "นครรัฐปัตตานี" หรือแม้กระทั่ง "รัฐปัตตานี" ที่สื่อให้เข้าใจถึงการ "ตั้งรัฐใหม่" หรือ "แยกตัวตั้งรัฐใหม่"
ทั้งๆ ที่ข้อเสนอเรื่อง "นครปัตตานี" หรือโมเดลอื่นๆ ที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน เช่น "ปัตตานีมหานคร" ก็เป็นรูปแบบ "การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" รูปแบบหนึ่ง ที่ใครหรือท้องถิ่นใดก็สามารถคิดและเสนอได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนความเหมาะสมในรายละเอียดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องถกเถียง วิจารณ์ ปรับแต่งกันต่อไป
ขณะที่เอกสารที่ พล.ท.ภราดร ไปลงนามกับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ก็เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่าการพูดคุยสันติดภาพต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทย
ฉะนั้นข้อเสนอใดๆ ก็ตามย่อมต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมาตรา 1 เขียนเอาไว้ว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"
อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เมื่อกระบวนการพูดคุยถูกยกระดับไปถึงขั้น "เจรจา" และมีการเสนอเงื่อนไขแก่กัน โต๊ะเจรจาในห้วงนั้นย่อมหนีไม่พ้นข้อเสนอหรือเงื่อนไขอีกหลายข้อนอกเหนือจากการจัดรูปแบบการปกครองหรือการบริหารพื้นที่ใหม่ เช่น การนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง เป็นต้น
นั่นคือจังหวะก้าวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และสังคมไทยน่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมถกแถลงกันอย่างสร้างสรรค์เสียแต่เนิ่นๆ
แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยสันติภาพที่มี พล.ท.ภราดร เป็นหัวหน้า กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ข้อต่อรองหรือเงื่อนไขที่คาดว่าจะต้องเจอหรือถูกเรียกร้องจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ (หรือขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) เมื่อการพูดคุยถูกยกระดับเป็นการ "เจรจา" มีอยู่ 3 ประเด็น คือ
1.ผู้มีหมายจับหรือถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุมากแล้ว จะทำอย่างไร นิรโทษกรรมได้หรือไม่
2.จัดรูปแบบการปกครองหรือการบริหารพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
3.การพัฒนาในมิติต่างๆ
"ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้คิดว่าฝ่ายขบวนการต้องหยิบยกขึ้นมาพูดแน่ในขั้นตอนการเจรจา แต่ในช่วงนี้ (ช่วงของการพูดคุยและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 32 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)"
แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยสันติภาพ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่แหลมคมที่สุดในขณะนี้คือท่าทีของปัญญาชนมุสลิม สิ่งที่อยากเสนอคืออยากให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.ในอดีต (มี นายอานันท์ ปัณยารชุน เป็นประธาน) เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม โดยดึงคนที่มีความสามารถมาเป็นบอร์ด เช่น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน หรือนายอานันท์
ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา โดยคนที่ต่อสู้กับรัฐ แยกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มสั่งการให้ต่อสู้ แต่ไม่มีหมายจับ หรือกระบวนการยุติธรรมเอื้อมไม่ถึง
2.กลุ่มที่มีหมาย พ.ร.ก. และ ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) จำนวน 3-4 พันคน
3.กลุ่มที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี
4.กลุ่มที่ศาลยกฟ้อง อาจต้องให้ความสำคัญเรื่องเยียวยามากกว่าปัจจุบัน
"เรื่องเหล่านี้ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะเอาอย่างไร เพราะถ้าคิดแค่แพ้ชนะก็ไม่จบ ต้องถามว่าจะรักษาแผ่นดินหรือรักษากฎหมาย" แหล่งข่าว กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยสันติภาพอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายทหาร กล่าวว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะยังไม่คุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ (รูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่) แต่อย่างไรเสียสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้น เพราะเมื่อพิจารณาจากการเจรจาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ โจทย์น่าจะใกล้เคียงกัน คือจบลงที่รูปแบบการปกครองตนเองแบบพิเศษแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
“อะไรที่รับได้ มีหลักประกันที่แท้จริง ตรงนั้นไม่มีอะไรน่าเกลียด ถ้าเป็นเหตุเป็นผล ทำแล้วหยุดยิงจริงก็น่าพิจารณา" แหล่งข่าว กล่าว
และว่า การปกครองรูปแบบพิเศษถ้าขีดกรอบเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภาอยู่แล้วว่าสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงนามแสดงเจตจำนงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 28 ก.พ.2556
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์คมชัดลึก