เครือข่ายลุ่มน้ำโขงเตรียมยื่นอุทธรณ์ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี
เครือข่ายปชช.ลุ่มน้ำโขงเตรียมยื่นอุทธรณ์ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี หลังศาลปค.ยกฟ้อง จี้บรรจุเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ระบุชาวบ้านเดือดร้อน-วิถีชีวิตเปลี่ยน
วันที่ 14 มี.ค. 56 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์ ‘ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเดินหน้าอุทธรณ์คดี ฟ้องเขื่อนไซยะบุรี’ โดยระบุว่า เมื่อ 7 ส.ค. 55 เครือข่ายฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีโครงการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อ 15 ก.พ. 56 ไม่รับคำฟ้อง จึงจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ เพื่อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว และอธิบายให้ศาลปกครองได้เข้าใจข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง โดยต้องบรรจุเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
“การซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ระหว่างกฟผ.กับบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด นำมาซึ่งการก่อสร้างเขื่อนที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงตอนล่าง ทำลายความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรายได้ต่าง ๆ รวมถึงรากฐานทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แถลงการณ์ระบุ
นอกจากนี้วันที่ 15 มี.ค. 56 จะยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ด้วย เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีมายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงเลย 2 เนื่องจากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสาร และไม่แน่ใจว่าได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายฯ จะยื่นอุทธรณ์ให้ยุติการสร้างเขื่อนไซยะบุรี วันที่ 19 มี.ค. 56 วันเดียวกัน ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา ‘เขื่อนไซยะบุรี:ไทย บรรษัทบริบาล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และการเมืองระหว่างประเทศ” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในวัน ‘หยุดเขื่อนโลก’ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มี.ค. ของทุกปี
นายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า คนบางกลุ่มมองแม่น้ำโขง เป็นสายน้ำที่ไหลทิ้งไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อเกิดประโยชน์ทางมูลค่า ซึ่งแตกต่างจากชาวบ้านที่มองในเชิงคุณค่า เปรียบแม่น้ำโขงเป็นสายเลือด โดยฤดูแล้งจะพากันไปขุดบ่อน้ำ เพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากิน ทำประมงพื้นบ้าน และใช้พื้นที่ริมฝั่งปลูกพืชผักสวนครัว แต่เมื่อจีนมีการสร้างเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำโขง 4 เขื่อน ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำเริ่มแห้งขอด บางพื้นที่ในไทยถึงขั้นไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ต้องเสียงบประมาณในการขุดคลองชักน้ำ ปลาเริ่มขยายพันธุ์น้อยลง
ประกอบกับผลการศึกษาของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ (MRC) ระบุการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างอาจทำให้ปลาสูญพันธุ์ถึง 41 ชนิด โดยเฉพาะปลาบึก เพราะเขื่อนกีดขวางเส้นทางการอพยพของปลา ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนหวั่นว่าการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้นอาจส่งกระทบได้ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยข้อมูลเขื่อนไซยะบุรี แต่กลับได้รับคำตอบว่า เป็นความลับของคู่สัญญาสัมปทาน ซึ่งเราเชื่อว่าสาเหตุที่เข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ทุน และอำนาจรัฐที่ทับซ้อนอยู่
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า คงยากที่จะยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่ได้สร้างไปแล้ว นอกจากต้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล และกฟผ. ล้มเลิกสัญญาการสั่งซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นตอของการก่อสร้างทั้งหมด ส่วนเมื่อล้มเลิกแล้ว ลาวจะขายไฟฟ้าให้ใครก็เป็นสิทธิของประเทศ
ขณะที่นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผอ.เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีผู้ร่วมลงทุน 4 บริษัทจากไทย ได้แก่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด, นที ชินเนอร์ยี่, ผลิตไฟฟ้า จำกัด และพี.ที.คอนสตรัคชั่น แอนด์อิริเกชั่น จำกัด โดยรวมตัวจดทะเบียนเป็นบริษัท ไฟฟ้าไซยะบุรี จำกัด ขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งมีแหล่งเงินกู้ของโครงการมาจากธนาคารกรุงไทย, กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, ออมสิน และกสิกรไทย ซึ่งเป็นสัญชาติไทย จะเห็นว่าการปล่อยเงินกู้ของธนาคารไทยนั้นไม่ปฏิบัติตามหลักการธนาคารโลก ที่มีเกณฑ์ว่าธนาคารจะปล่อยกู้ให้เฉพาะโครงการที่เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องบรรจุหลักการดังกล่าวไว้ในนโยบายซีเอสอาร์ แต่ธนาคารไทยไม่เคยปฏิบัติตาม ทั้งที่มีการประชาสัมพันธ์ความเป็นบรรษัทบริบาลมากมาย ดังนั้นคนไทยจะต้องลุกขึ้นเรียกร้องจริยธรรมจากธนาคารเหล่านี้ถึงแนวทางดังกล่าว เพราะหวั่นว่าอนาคตการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบเหมือนเขื่อนปากมูลได้
นอกจากนี้ควรผลักดันให้มีการทบทวน MRC โดยใช้หลักกฎหมายและหลักปฏิบัติเรื่องแม่น้ำนานาชาติแท้จริง โดยเฉพาะหลักปฏิบัติเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงการทำโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ที่ต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งด้านกฎหมายและการมีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อภาคเอกชน จนกว่าจะมีกระบวนการทางสาธารณะที่ได้ข้อยุติแล้ว.
ที่มาภาพ:http://local.environnet.in.th/upload/20121109_6385_attach_files.jpg
ล้อมกรอบ
เเถลงการณ์เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง