ชาวยกกระบัตรร้องกมธ.-กสม. รง.ตั้งกลางพื้นที่สีเขียว ไม่ผ่านประชาพิจารณ์
ชาวยกกระบัตร สมุทรสาครร้องกมธ.-กสม.โรงงานตั้งกลางพื้นที่สีเขียว-ไม่ผ่านประชาพิจารณ์-อาศัยช่องว่างผังอำเภอล่าช้า ชี้กระทบถ้วนหน้าเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง-ปลา-มะพร้าว-มะม่วง
วันที่ 14 มี.ค. 56 ที่รัฐสภา เครือข่ายชุมชนยกกระบัตร จ.สมุทรสาคร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เรื่องขอให้ระงับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานพลาสติกและโรงงานหลอมอลูมิเนียมของ 1.บริษัท บี เค รีไซเคิล จำกัด(โรงงานที่ 1) 2.บริษัท เอ็ม.ซี.ที. รอยัลวูด จำกัด (โรงงานที่ 2) 3.บริษัท มหาเจริญการทอ จำกัด (โรงงานที่ 3 )และ 4.บริษัท ฟิวเจอร์ อลูมิเนียม แอนด์ซัพพลาย จำกัด (โรงงานที่ 4 และ 5) ซึ่งเป็นโรงงานประเภทที่ 3 (โรงงานขนาดใหญ่ที่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนดำเนินการตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535) ในพื้นที่หมู่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เนื่องจากทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
นางสำเนียง คล้ายจินดา ประธานเครือข่ายชุมชนยกกระบัตร กล่าวว่า การดำเนินกิจการของโรงงานทั้ง 5 แห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งกลิ่นเหม็นจากการเผาไหม้พลาสติก เสียงดังจากการเดินเครื่องจักร และปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดลงคลองสวนมะพร้าวซึ่งอยู่ติดกับโรงงานและเชื่อมต่อสู่คลองอื่นๆทั้งตำบล ทำให้น้ำเน่าเสีย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลาได้รับผลกระทบรุนแรง สารเคมีที่ลอยในอากาศยังส่งผลต่อสวนมะพร้าวและมะม่วงทำให้ผลผลิตต่ำลงและลูกเล็กลง และกระทบต่อคุณภาพของน้ำตาลมะพร้าวที่ชาวบ้านผลิต ทำให้ขายไม่ได้ราคาเช่นเดิม
น.ส.วิภารัตน์ เอื้อพิทักษ์ ตัวแทนชุมชน กล่าวว่า โรงงานพลาสติกและหลอมอลูมิเนียมทั้ง 5 แห่ง เป็นกิจการของผู้ประกอบการรายหนึ่งซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ โดยในปี 2551 ได้กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านเพื่อก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวตามร่างผังเมืองรวมอำเภอบ้านแพ้วซึ่งรอประกาศ จนปัจจุบันมีพื้นที่โรงงานรวมกันกว่า 50 ไร่
ปี 2552-2553 บริษัทบีเครีไซเคิล จำกัด(โรงงานที่ 1) และบริษัท เอ็ม ซี ที รอยัล วูด จำกัด (โรงงานที่ 2) ดำเนินการก่อสร้างโดยได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจากเทศบาลต.หลักห้า และใบอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร โดยข้ามขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ จนเกิดกรณีกลิ่นเหม็นจากการเผาพลาสติกและเสียงดังจากการแปรรูปไม้ ประชาชนจึงออกมาคัดค้าน และจึงมีมีการทำประชาพิจารณ์ 21 มี.ค. 54 ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้าน แต่โรงงานดำเนินกิจการต่อได้โดยเทศบาลอ้างว่าประชาชนที่ลงเสียงคัดค้านได้ถอนชื่อออก ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าไม่จริง
ปี 2555 บริษัทฟิวเจอร์อลูมิเนียมแอนด์ซัพพลาย จำกัด (โรงงานที่ 4 และ5) เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ จึงจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น 12 มิ.ย. 55 โดยมีมติเอกฉันท์ห้ามก่อสร้างและดำเนินการโรงงานที่ 4 และ 5 ซึ่งโรงงานอ้างว่าจะไม่ดำเนินการผลิตและใช้สถานที่เป็นเพียงโกดังเก็บของ แต่โรงงานกลับยังดำเนินการผลิตจนถึงปัจจุบัน แม้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ
ที่ผ่านมาประชาชนได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนถึงความไม่ถูกต้องของโรงงานทั้ง 5 แห่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายอำเภอบ้านแพ้ว เทศบาลตำบลหลักห้า แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยเทศบาลอ้างเหตุช่องว่างกฎหมายว่าผังเมืองรวมอำเภอบ้านแพ้วซึ่งกำหนดห้ามมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียวยังไม่ประกาศใช้และแต่ละโรงงานเป็นกิจการขนาดเล็กที่ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเครือข่ายฯเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องจึงขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการอนุญาตก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงงานทั้ง 5 แห่งด้วย
นายนริศ ขำนุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายอำเภอบ้านแพ้ว และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่
น.ส.สนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า กรรมาธิการจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และตั้งคณะทำงานนำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้รับเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ เครือข่ายชุมชนยกกระบัตรได้เดินทางไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ด้วย โดยมีนายอัญญะรัฐ เฉ่งอ้วน เป็นผู้รับเรื่องพร้อมระบุว่าจะกสม.จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้เครือข่ายชุมชนยกจะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองต่อกรณีดังกล่าวต่อไป
ภาพบริเวณคลองข้างโรงงานซึ่งมีการปล่อยน้ำเสีย
สัตว์น้ำในคลองรอบโรงงานตายเนื่องจากน้ำเน่าเสีย