๓ ยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
27 กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางและเครื่องมือสำหรับประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีบุรณาการ สอดคล้องตามบทบาทภารกิจหน้าที่ในขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ประกอบด้วย ๓ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
๑.๑ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า (Modal Shift & Multimodal) เพื่อมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน โดยลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวม และให้ความสำคัญกับการเปลียนแปลงรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่การขนส่งทางน้ำและทางรางที่มีต้นทุนการขนส่งต่ำกวา (Growth and Competitiveness) ได้แก่ การพัฒนา/ปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ วงเงินลงทุน ๑,๐๗๖,๕๔๒ ล้านบาท
๑.๒ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่เมืองศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (Connectivity) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการย้ายฐานการผลิตที่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน (Gateway) และการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค (Regional Connectivity) วงเงินลงทุน ๑,๗๙๓,๐๐๔ ล้านบาท
๑.๓ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว (Mobility) เพิ่มทางเลือกในการเดินทางยกระดับคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชน ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง (Urban) และการพัฒนาโครงข่ายขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภายในประเทศ (Intercity) วงเงินลงทุน ๑,๓๗๐,๐๑๐ ล้านบาท