จดหมายเปิดผนึก “ประชาคมอาเซียน กับสิทธิมนุษยชน”
จดหมายเปิดผนึก
ข้อคิดเห็นจากเวทีสาธารณะ เรื่อง "ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) กับสิทธิมนุษยชน"
ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) กับสิทธิมนุษยชน" เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับความรู้ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในมิติ สิทธิมนุษยชน รวมทั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการนำไปสังเคราะห์ เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการส่งเสริม คุ้มครองและป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ในการร่วมอภิปรายและ แสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญใน ๔ ประเด็นหลัก ดังนี้
๑. ประเด็นด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ยังไม่แพร่หลายและเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารสำคัญที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตประชาชนของแต่ละประเทศ ซึ่งประชาชนควรจะต้องรับรู้มีน้อยมาก รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันไม่มีการปรับภาษาให้เข้าใจง่ายหรือประยุกต์ให้สอดคล้องกับสังคมไทย
๒. ประเด็นด้านวัฒนธรรม ค่านิยม วิถีชีวิต ภาษา และความเชื่อของแต่ละประเทศและ กลุ่มวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการรวมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ควรจะมีการส่งเสริมระบบการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงความธำรงไว้และ ความละเอียดอ่อนในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน ควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนได้พัฒนาทักษะด้านภาษาที่หลากหลาย รวมทั้งควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในอนาคตด้วย
๓. ประเด็นการเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงาน ควรจัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มี การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ และสิทธิในการดูแลผู้อพยพและสิทธิผู้ลี้ภัย เพื่อทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในระดับภูมิภาค ควรจัดให้มีหน่วยงานในการวิเคราะห์ ผลักดัน ขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบาย มาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเข้มข้น ตลอดจนการผลักดันให้เกิดคณะกรรมาธิการอาเซียนด้านแรงงานอพยพ (ACMW)
๔. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร ควรมีนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้มีการบังคับใช้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้มีการลงนามในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้วหลายฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของ สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงจากการเป็นประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC)
จากข้อสรุปที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นใดในด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวง การต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อพิจารณานำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖