ธ.ก.ส.ขยายเวลา 1 ปีชำระหนี้เกษตรกรแก้ภัยแล้ง
ธ.ก.ส.ขยายเวลา 1 ปี ชำระหนี้เกษตรกรเจอภัยแล้ง 1 แสนครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย 1 ล้านไร่ –ชงงบ 5,000 ล้านบาทปล่อยกู้ฟื้นฟูอาชีพ-พัฒนาแหล่งน้ำ
วันที่ 13 มี.ค. 56 ที่กระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากภาวะภัยแล้งว่า ขณะนี้ภัยแล้งได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรกว่า 37 จังหวัด 378 อำเภอ 2,636 ตำบล 26,107 หมู่บ้าน โดยเป็นลูกค้าของธ.ก.ส.กว่า 1 แสนครัวเรือน พื้นที่เสียหาย 1 ล้านไร่
ดังนั้น จึงมีนโยบายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยให้เกษตรกรที่ประสบภัยร้ายแรงหรือเสียหายจนเป็นเหตุให้รายได้ลดลงเกินกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ปกติ ธ.ก.ส.จะขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 1 ปี ทั้งในส่วนของลูกค้าปกติและลูกค้าโครงการพักชำระหนี้ ยกเว้นกรณีที่เกษตรกรได้รับสิทธิที่ดีกว่าในโครงการเดิม เช่น โครงการพักชำระหนี้น้ำท่วมปี 54
นอกจากนี้ยังปล่อยกู้ใหม่รายละไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการนำลงทุนปลูกพืชทนแล้งทดแทนพืชผลที่ได้รับความเสียหาย หรือประกอบอาชีพอื่นแทน หรือกู้ไปพัฒนาแหล่งน้ำในที่ดินของตนเอง รวมทั้งเงินกู้แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเฉพาะหน้า เช่น เงินกู้ซื้อน้ำเพื่อบำรุงรักษา กรณีสวนผลไม้ สวนยาง สวนปาล์ม โดยจะได้รับการลดหย่อนหลักประกันเงินกู้กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จากกู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นกู้ได้ไม่เกินวงเงินจำนอง และกรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน หรือกรณีกู้เงินโดยใช้หลักประกันบุคคลอย่างน้อย 2 คนค้ำประกัน จะขยายวงเงินกู้จากกู้ได้ไม่เกินรายละ 200,000 บาท เป็นไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
“ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำไปพัฒนาบริหารจัดการระบบน้ำศูนย์กลางของชุมชน ในเงื่อนไขผ่อนปรนและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดธ.ก.ส.ในมี.ค.นี้”
ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวด้วยว่า เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งที่แผ่ขยายวงกว้างมากขึ้น ธ.ก.ส. ยังนำรถบรรทุกน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแจกจ่ายตามชุมชนต่าง ๆ ส่วนกรณีที่ชุมชนมีแหล่งน้ำจะได้จัดสรรงบประมาณในการขุดลอกคูคลอง พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช และตลาดกระจายสินค้าแก่เกษตรกรด้วย.