เส้นทาง "บีอาร์เอ็น" 53 ปี...ถึงวันนี้ "หยุดยิง" ได้จริงหรือ?
13 มี.ค.เป็นวันสถาปนา "บีอาร์เอ็น" หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani)
วันนี้ของทุกๆ ปีจะเป็นอีกหนึ่งวันที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องวางมาตรการเข้มเพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายในท่วงทำนองเฉลิมฉลองวันสถาปนาของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
แต่วันที่ 13 มี.ค.ปีนี้ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะแกนนำบีอาร์เอ็นอย่างน้อยก็ปีกหนึ่ง (ที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ) กำลังอยู่ในขั้นตอนริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายความมั่นคงไทย
13 มี.ค.2556 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 53 ปีการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์จะผ่านไปด้วยดี เพราะแกนนำบีอาร์เอ็นต้องการส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับรัฐบาลไทย หรืออีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ (ทั้งวันที่ 13 มี.ค.และหลังจากนั้น) ในลักษณะส่งสัญญาณจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ
เดือนนี้ของปีที่แล้วก็มีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นที่มาเลเซียเหมือนกัน แต่เป็น "กระบวนการลับ" (และเชื่อกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนอย่างสำคัญ) หลังจากนั้นในวันที่ 31 มี.ค.ก็เกิดเหตุคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และที่ อ.เมือง จ.ยะลา ทั้งยังมีมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ด้วย
หลายคนนำมาตีความว่าเป็นปริศนา "สลับเลข" กับวันสถาปนาบีอาร์เอ็น 13 มี.ค. เพื่อล่อหลอกให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผิดวัน และเปิดช่องให้กดระเบิดเพื่อปฏิเสธการเจรจา
ขบวนการบีอาร์เอ็นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2503 โดย อุสตาซอับดุลการิม ฮัสซัน ต่อมาในราวปี 2511 ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น จากนั้นปี 2513 เริ่มส่งเยาวชนไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซีย และเริ่มจัดตั้งองค์กรแบบใหม่ แบ่งเป็น 3 ขา คือ บีอาร์เอ็น อูลามา เป็นฝ่ายศาสนา บีอาร์เอ็น คองเกรส เป็นฝ่ายทหาร และ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เป็นฝ่ายการเมือง แต่ละฝ่ายมีหัวหน้าดูแลโดยตรง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากบางแหล่งก็ระบุว่า การแบ่งโครงสร้างเป็น 3 ขาหรือ 3 องค์กรย่อยดังกล่าว แท้ที่จริงเกิดจากความขัดแย้งภายในของขบวนการเอง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ช่วงหลังจากปี 2526-2527 บีอาร์เอ็น อูลามา ซึ่งยังคงมี อุสตาซอับดุลการิม เป็นหัวหน้า และ บีอาร์เอ็น คองเกรส ได้ยุติบทบาทลง เหลือเพียง บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่เดินหน้าต่อสู้ต่อไป โดยที่มีสมาชิกหรือแกนนำจาก 2 กลุ่มแรกที่ไม่เห็นด้วยกับการยุติบทบาทได้ไหลเข้า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ด้วย
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต นี่เองที่อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในช่วง 10 ปีมานี้ แต่เปลี่ยนวิธีการรบใหม่โดยผ่านการจัดตั้ง "องค์กรปฏิวัติมลายู" ซึ่งแบ่งเป็นองค์กรนำ องค์กรมวลชน และองค์กรทหาร
องค์กรนำ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย
องค์กรมวลชน มีการจัดตั้งจากระดับเขต จังหวัด อำเภอ ลงไปถึงหมู่บ้าน
องค์กรทหาร มีโครงสร้างตั้งแต่หน่วยรบจรยุทธ์ขนาดเล็ก หรือ "อาร์เคเค" เรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับจังหวัดและเขต
งานวิจัยของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า รูปแบบ "องค์กรปฏิวัติมลายู" ถูกจัดวางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยในช่วง 10 ปีแรกเป็นช่วงของการวางระบบ บ่มเพาะความรู้ให้กับเยาวชน เน้นไปที่ประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี ศาสนา และเชื้อชาติมลายู จากนั้นอีก 10 ปีถัดมาคือช่วงปี 2537-2547 จึงเริ่มจัดองค์กรเพื่อสู้รบ มีการวางยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ประชากร (สร้างฐานมวลชน) ยุทธศาสตร์สังคม (การศึกษา/อาชีพ) ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (พึ่งพาตนเอง) ยุทธศาสตร์การข่าว และยุทธศาสตร์การป้องกันมวลชน
เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงเริ่มประกาศ "สงครามประชาชน" ในวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งก็คือการปล้นปืนครั้งใหญ่ หลายคนเรียกวันเสียงปืนแตก!
การดำเนินการทั้งหมดนี้ทำในรูปของ "องค์กรปิดลับ" ด้านหนึ่งส่งผลทำให้ "แนวร่วมรุ่นใหม่" ที่ต่อสู้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อถูกถามว่าอยู่ขบวนการไหน พวกเขาจะบอกแค่เพียงว่าเขาเป็น "ขบวนการ" แต่ไม่มียี่ห้อต่อท้ายว่า บีอาร์เอ็น พูโล หรืออื่นๆ เสมือนหนึ่งว่าไม่มีขบวนการอะไรอีกแล้วในพื้นที่ มีแต่แนวคิดต่อต้านรัฐที่กระจายไปทั่ว
ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ เมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนด้วย "องค์กรลับ" การปลุกระดมหรือเผยแพร่อุดมการณ์จึงเป็นไปอย่างเสรีทั้งในและนอกขบวนการ โดยผ่านแนวคิด "ไม่เอารัฐไทย" ซึ่งกระจายตัวอย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนและคนหนุ่มสาวหลายกลุ่ม
เมื่อมีเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เหตุการณ์ตากใบ เป็นต้น เยาวชนและคนหนุ่มสาวที่ผ่านการบ่มเพาะปลุกระดมจึงพร้อมที่จะร่วมขบวนก่อเหตุรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์เพื่อตอบโต้รัฐทันที โดยไม่ต้องอ้างอิงขบวนการ ไม่ต้องเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น เพราะทุกคนเชื่อว่าเป็นการรบเพื่อความเป็นธรรมของคนมลายูปัตตานี
กรณี มะรอโซ จันทรวดี เป็นตัวอย่างที่ดี...
ขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็สู้ในสงครามนี้แบบไม่ยอมถอย มีการสร้างเครือข่ายคนในพื้นที่ให้เข้าเป็นพวกเดียวกับรัฐผ่านระบบการจัดตั้ง ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อส. (อาสารักษาดินแดน) และทหารพราน มีการใส่ข้อมูลชุดของรัฐผ่านสื่อทุกแขนงไม่ต่างกัน ทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในแนวระนาบถ่างกว้างมากขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า การลงนามในข้อตกลงสันติภาพของคนเก่าแก่ในขบวนการบีอาร์เอ็นจะหยุดยั้งความรุนแรงจากกลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นกับ "ขบวนการ" และหยุดยั้งกระแสความเกลียดชังที่เพียรสร้างขึ้นจากทั้งสองฝ่ายได้จริงหรือ?
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนผังขั้นตอนการจัดตั้ง "องค์กรปฏิวัติมลายู" ดัดแปลงจากข้อมูลงานวิจัยของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย
ขอบคุณ : ฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : บางส่วนของงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 13 มี.ค.2556 ด้วย