ชาวสะเอียบประกาศขยายเขต ‘วังผาอิน’ อนุรักษ์พันธุ์ปลา 3 กม.
ชาวสะเอียบประกาศขยายเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ‘วังผาอิน’ พื้นที่ 3 กม. หวังเป็นแหล่งอาหารชุมชน ท้า ‘ปลอดประสพ’ ย้ายเขื่อนยมล่างไปศรีสัชนาลัย ระบุเก็บน้ำได้มากกว่า
เร็ว ๆ นี้ ชาวบ้านต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 100 คน ร่วมจัดพิธีกรรมอนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่า รักษาแม่น้ำ โดยการประกาศขยายเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้คลอบคลุมพื้นที่วังผาอิงกว่า 3 กิโลเมตร เนื่องในวาระวันหยุดเขื่อนโลก 14 มี.ค. ของทุกปี
นายเส็ง ขวัญยืน กำนันต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อดีตตัวแทนไทยเข้าร่วมงานวันหยุดเขื่อนโลกที่บราซิล กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงภัยจากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งนอกจากอันตรายจากเขื่อนแตกร้าวแล้ว ยังทำให้ปลามีสายพันธุ์ลดน้อยลง เนื่องจากเขื่อนได้ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา จนหลายประเทศต้องรื้อเขื่อนทิ้ง เพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ
“เราร่วมกันต่อต้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะไม่อยากให้เขื่อนมาทำลายป่า แม่น้ำ และสายพันธุ์ปลา ตลอดจนทำลายวิถีชีวิตของพวกเรา" กำนันเส็ง กล่าว
ด้านพระครูสุธรรม ชัยสิทธ์ เจ้าอาวาทวัดดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า กรรมการชุมชนต.สะเอียบมีความเห็นให้ประกาศขยายเขตอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาจากเดิมขึ้นไปให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 กม. ของวังผาอิน โดยมีทิศเหนือระยะทาง 2.5 กม. และทิศใต้ 500 ม. เพื่อในอนาคตลูกหลานจะได้มีปลาไว้ทาน อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องการให้เลิกกินปลา แต่เมื่อกินแล้วจะต้องอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย
ขณะที่นายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้าน ม. 1 บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวสะเอียบต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมา 24 ปี โดยมีข้อเสนอให้กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาโดยตลอด เพื่อยืนยันที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แม่น้ำยม พันธุ์ปลา ป่าสักทอง ให้เป็นแหล่งอาหารของเรา
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน กล่าวถึงกรณีรัฐบาลและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยกเลิกสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่จะสร้างเขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่างแทนว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้น้ำท่วมป่าสักทองและที่ดินทำกินของชาวบ้านเหมือนเดิม ดังนั้นตนขอท้ารัฐบาล กบอ. และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานกบอ. ถ้าไม่มีเจตนาจะทำลายป่าสักทองจริง ขอให้ย้ายการสร้างเขื่อนยมล่างไปตั้งที่อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดพิธีกรรมอนุรักษ์สายพันธุ์ปลา ได้มีการจัดพิธีกรรมทางศาสนา โดยการตั้งเต้าทั้งสี่ เลี้ยงผีเจ้าที่ จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ ก่อนจะล่องเรือนำผ้าเหลืองและป้ายเขตอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาติดตามริมสองฝั่งแม่น้ำยมตลอดแนว 3 กม. พร้อมขึงลวดสลิงยาวข้ามแม่น้ำยม เพื่อเป็นแนวเขตอนุรักษ์อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสะเอียบได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่วังผาอินมาตั้งแต่ปี 34 แล้ว.