หนุนสมุนไพร11ชนิดเทียบชั้นยารักษาพื้นฐาน ตั้งเป้า 10ปีได้มาตรฐาน
3 หน่วยงานสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ สนับสนุนสมุนไพร 11 ชนิด เทียบชั้นยารักษาพื้นฐาน ตั้งเป้า 10 ปี ยาไทยได้มาตรฐานรองรับเมดิคัล ฮับ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2556 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ” ระหว่าง นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนายาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดย อย.ทำหน้าที่ร่างมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรเพื่อรับประกันคุณภาพขั้นตอนการผลิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ เพื่อดูสาระสำคัญในสมุนไพร และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการด้านวิจัยสมุนไพร เพื่อแสดงศักยภาพของไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ.2558 สามารถขยายผลทางเศรษฐกิจได้ ส่งเสริมให้ประชาชนมีและใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักมากขึ้น
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายว่าภายในทศวรรษต่อจากนี้ไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน และให้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ให้เหมาะสม และผลักดันให้มีการใช้สมุนไพรมากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศถึงร้อยละ 75 โดยต้องทำให้องค์ความรู้สมุนไพรเป็นมาตรฐานก่อน สร้างความเข้าใจประชาชนว่า ยาที่มาจากสมุนไพรเป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบันและใช้ได้ผล ไม่ได้ไปบังคับแพทย์ว่าให้ใช้ให้ได้ร้อยละ 10 หรือ 20 เป็นอย่างน้อย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนประเมินผลว่ายาสมุนไพรที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วจำนวน 71 รายการ มีการใช้มากน้อยเพียงใด และสาเหตุที่แพทย์ไม่ใช้ยาสมุนไพร เป็นเพราะแพทย์ไม่เชื่อถือที่มาของยา หรือเพราะยามีปริมาณไม่เพียงพอ หรือไม่เชื่อในสรรพคุณยา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของระบบภายใน เพราะที่ผ่านมาเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจะต้องทำ แต่ยังไม่มีระบบการประเมินผลที่ชัดเจน "การผลักดันสมุนไพรครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐบาล โดยจะคัดเลือกสมุนไพรเป็นโปรดักส์แชมเปียนขึ้นมา เช่น แต่ละปีไทยนำเข้าสารสกัดจากใบบัวบกเพื่อใช้ทำเครื่องสำอางถึงปีละ 20,000 ล้านบาท หากมีการสนับสนุนส่วนนี้ในเชิงธุรกิจ ก็จะเป็นการลดการเสียดุลการค้าของไทยได้มาก และสร้างอาชีพให้กับคนไทยด้วย"
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ทั้งนี้ไม่ใช่แต่จะสนับสนุนให้ปลูกอย่างเดียว จะต้องพัฒนาถึงขั้นสกัดสารเคมีสำคัญตัวนั้นๆ ออกมา เพื่อไปทำส่วนประกอบของเครื่องสำอางต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันทุกรูปแบบ ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว คาดหวังว่าประชาชนจะมีการใช้สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน และไม่ใช่ยาทางเลือก แพทย์ทุกคนใช้ยาดังกล่าวรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด ปวดท้อง ปวดหลัง ซึ่งปกติแพทย์กว่าร้อยละ 75 แพทย์ รักษาอาการป่วยตามอาการอยู่แล้ว เช่น ปวดหัวให้กินพาราเซตามอล ปวดท้องก็ให้กินยาลดการบิดตัวของลำไส้ เจ็บคอก็ให้ยาละลายเสมหะ สมุนไพรไทยก็มีฤทธิ์เหล่านี้เช่นกัน รวมถึงใช้ยาปฏิชีวนะในรายที่จำเป็นเท่านั้น หากเป็นโรคหนักๆ เช่น มะเร็ง เชื่อว่าสารจากสมุนไพรหลายๆ ตัวมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้รักษา แต่ยังอยู่ในขั้นวิจัยอยู่ ดังนั้น จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มแพทย์ ในการใช้สมุนไพรรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น และไม่มองว่าสมุนไพรเป็นแค่ทางเลือก ได้เร่งให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เร่งผลักดันให้เป็นมาตรฐานการรักษาต่อไป
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2556-2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายบรรจุยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายการยาทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 878 รายการ โดยรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติควรมีจำนวน 87 รายการ ขณะนี้บรรจุแล้ว 71 รายการ คิดเป็นร้อยละ 8.09 ซึ่งการเพิ่มรายการยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ จะเป็นอีกทางเลือกเพิ่มขึ้นของแพทย์ผู้สั่งยาในการรักษา หรือส่งเสริมสุขภาพแบบผสมผสานแก่ประชาชน และกระตุ้นให้เพิ่มมูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรมากขึ้น เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชาติ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศได้ สำหรับสมุนไพรที่น่าจะมีศักยภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถนำมาวิจัยต่อยอด พัฒนาเป็นยาจากสมุนไพรที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ สามารถนำมาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ในปีนี้พบว่ามี 11 ชนิด ได้แก่ 1.พริก 2.ใบฝรั่ง 3.ขมิ้นชัน 4.บัวบก 5.พรมมิ 6.ว่านชักมดลูก 7.กวาวเครือขาว 8.กระชายดำ 9.ขิง 10.ปัญจขันธ์ และ 11.หม่อน ซึ่งพืชเหล่านี้มีข้อมูลเบื้องต้นที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นยา สำหรับรักษาอาการหรือโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขได้
นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าในปี 2555 มูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ มีประมาณ 363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.82 ของการใช้ยาทั้งหมด ยาสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขมิ้นชัน รักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร แน่นท้องจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ 2.ไพล ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และ 3.ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ ทั้งนี้ในการพัฒนาสมุนไพร ได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยนักวิชาการจากทั้ง 3 หน่วยงาน นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลและคัดเลือกสมุนไพรที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอด โดยจะร่วมกันจัดทำแผนการวิจัยตามขั้นตอน เพื่อให้สมุนไพรน่าเชื่อถือ และเร่งผลักดันบรรจุเพิ่มเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยอีก 15 รายการ ภายใน 3 ปี เพื่อนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างแพร่หลาย ทั้งในโรงพยาบาล และส่งเสริมให้จำหน่ายในร้านขายยาต่อไปในอนาคต.
ที่มาภาพ:http://1.bp.blogspot.com/-lofisZhuzjo/UCPJAD2xhZI/AAAAAAAAABs/pLOJ1NAeVew/s640/%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B9%25E0%25B8%259B.png