เจาะไทม์ไลน์ "พูดคุยดับไฟใต้" กับ 2 เงื่อนไข "ลดบึ้ม-หยุดฆ่าเป้าหมายอ่อนแอ"
ภายหลังการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ต่อหน้าสื่อมวลชนระดับโลกระหว่างคณะทำงานริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพซึ่งนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ บุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจก็คือ นับจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ที่สำคัญที่สุดคือ สันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รออยู่ปลายทางจริงไหม และอะไรคือ "เงื่อนไข" แห่งสันติภาพที่ว่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าในห้วงของการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างแน่นอน
"ทีมข่าวอิศรา" เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการทำงานและกรอบเวลาที่คณะทำงานชุด พล.ท.ภราดร วางไทม์ไลน์เอาไว้คร่าวๆ มานำเสนอ รวมทั้งสิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในกระบวนการสันติภาพ
เจาะไทม์ไลน์...จากพูดคุยถึงเจรจา
28 ก.พ.2556 - ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงริเริ่มเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ และนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป
5 มี.ค.2556 - หารือนอกรอบระหว่างคณะทำงานที่มี พล.ท.ภราดร เป็นหัวหน้า กับคณะของนายฮัสซัน ตอยิบ ทั้งสองฝ่ายรับทราบและให้ความเห็นชอบบุคคลที่รัฐบาลมาเลเซียส่งมาทำหน้าที่ "ผู้อำนวยความสะดวกในการจัดกระบวนการพูดคุย" หรือ Facilitator คือ ดาโต๊ะซัมซามีน อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ทั้งยังนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 28 มี.ค.2556
11-15 มี.ค.2556 - สมช.เป็นเจ้าภาพสรรหาคณะทำงานเพื่อร่วมวงพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับฝ่ายบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค. โดยกำหนดจำนวนไว้ฝ่ายละไม่เกิน 15 คน เบื้องต้น สมช.ระบุว่าจะพยายามดึงตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้ามาร่วมให้มากที่สุด ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะพยายามดึงตัวแทนจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐไทยเข้าร่วมด้วย
18-22 มี.ค.2556 - คณะทำงาน 15 คนประชุมซักซ้อมความเข้าใจและกำหนดประเด็นในการพูดคุย
28 มี.ค.2556 - พูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับแกนนำบีอาร์เอ็น คาดว่าเป็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และอาจใช้เวลาทั้งวัน
หลัง 28 มี.ค.2556
- ตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อพูดคุยเชิงลึกในประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นเฉพาะทาง เช่น กฎหมาย เศรษฐกิจ เป็นต้น โดยคณะทำงานย่อยอาจประชุมกันได้บ่อยๆ มากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- ตั้งหัวหน้าคณะทำงานพูดคุยสันติภาพในรายละเอียด โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เพื่อดำเนินกระบวนการพูดคุยแทน พล.ท.ภราดร อย่างมีความยืดหยุ่น แต่ พล.ท.ภราดร ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดใหญ่เช่นเดิม
3-6 เดือนหลัง 28 มี.ค.2556
- สร้างความเชื่อใจเชื่อมั่นระหว่างกัน เช่น ลดปริมาณเหตุรุนแรง, เลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในบางพื้นที่
- ฝ่ายรัฐบาลไทยเปิดเวทีประชาเสวนาทุกระดับ เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการพูดคุยสันติภาพและรับฟังความเห็น ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็จะพูดคุยขยายวงในส่วนของตนเองต่อไป
ไตรมาสุดท้ายของปี 2556 - เข้าสู่กระบวนการเจรจาในเงื่อนไขต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอ
ปี 2558 - พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดสันติภาพและมีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ระดม "นักวิชาการ-ทหาร-ครู-สื่อ" ร่วมวงพูดคุย
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า จากการพูดคุยนอกรอบกับแกนนำบีอาร์เอ็นและผู้แทนของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ สรุปลงตัวที่ฝ่ายละ 15 คน
ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงไทย นอกจาก 4 คนที่เป็นตัวยืน คือ เลขาธิการ สมช. เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รองปลัดกระทรวงกลาโหม (พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก) และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง) แล้ว จะพยายามให้มีผู้แทนจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา สถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งทหาร ครู และตัวแทนสื่อมวลชนด้วย โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเพื่อกำหนดตัวผู้ที่จะร่วมเป็นคณะทำงานทั้งหมด
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า หลังจากการพูดคุยครั้งที่ 2 วันที่ 28 มี.ค.นี้ ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรก จะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่ากรอบการทำงานในระยะต่อไปคืออะไรบ้าง มีประเด็นอะไรที่้ต้องพูดคุยกันในรายละเอียด ซึ่งประเด็นเหล่านั้นก็จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยที่เป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่ายขึ้นมาพูดคุยกัน การพูดคุยอาจจะถี่ขึ้นในส่วนของคณะทำงานย่อย ขณะที่คณะทำงานชุดใหญ่ก็อาจจะคุยกันเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง
คาดใช้เวลา 2 ปีสันติภาพเกิด
"เมื่อได้พูดคุยกันบ่อยๆ ประเด็นก็จะเริ่มชัด ความไว้วางใจก็จะเพิ่มมากขึ้น ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาของการสร้างความมั่นใจ เชื่อใจ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาจริงๆ เขาต้องการอะไร เราต้องการอะไร ตอนนั้นค่อยมาเจรจากัน" พล.ท.ภราดร กล่าว และว่ากระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลา แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะไม่นานเหมือนกรณีขัดแย้งอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค เพราะมีการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นกรอบเวลาอยู่ ฉะนั้นคิดว่าทุกอย่างน่าจะลงตัวภายใน 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งมาเลเซียก็เห็นตรงกัน
พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนหลงอยู่ในเขาวงกต การที่มาเลเซียยอมประกาศตัวช่วยเหลือไทย และได้ลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เหมือนกับได้กุญแจประตูที่ไขเปิดออกจากเขาวงกต แต่เมื่อออกจากเขาวงกตแล้วยังมีอุโมงค์ ซึ่งหมายถึงยังมีงานอีกมากที่ต้องทำต่อไป เพียงแต่ครั้งนี้มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เท่ากับเป็นความหวังว่าจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้จริง
ยื่น 2 เงื่อนไข "ลดบึ้ม-หยุดฆ่าครู"
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวเสริมว่า คณะพูดคุยที่จะไปร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค.นี้ที่ประเทศมาเลเซีย ได้พยายามเน้นตัวแทนจากพื้นที่เป็นหลัก เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีแน่นอน นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้แทน กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งในส่วนของ กอ.รมน.ส่งชื่อมาแล้ว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงไทยจะหยิบไปพูดคุยในวันที่ 28 มี.ค. พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักๆ คือลดความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งได้วางกรอบไว้ 2 เรื่อง คือ
1.อย่าทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอหรือผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ถืออาวุธ เช่น ครู เด็ก ผู้หญิง คนแก่
2.อย่าให้เกิดเหตุระเบิดในพื้นที่เขตเมืองหรือย่านชุมชน เพราะสร้างความสูญเสียเยอะ
บีอาร์เอ็นเสนอเลิก พ.ร.ก.พื้นที่สีแดง
ส่วนความต้องการของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ในฐานะผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้พยายามพูดในการพบปะกันครั้งแรก (28 ก.พ.) ว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยน่าจะมีการดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นนำไปพูดคุยต่อได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะต้องเข้าใจว่าผู้แทนบีอาร์เอ็นที่มาร่วมลงนามกับเลขาฯสมช.มีแรงกดดันมาก ต้องคุยกับคนในขบวนการ และต้องคุยกับมวลชนของขบวนการด้วย
"สิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการก็คือให้เราช่วยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งเราก็กำลังพิจารณา จริงๆ ก็มีหลายพื้นที่ที่เรามีแผนจะเลิกและยกเลิกได้ทันที แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงเบาบางอยู่แล้ว ทางบีอาร์เอ็นจึงเสนอให้เรายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงสูง เพื่อที่ว่าเขาจะได้ดำเนินการลดความรุนแรงลงให้เห็นเพื่อเป็นการพิสูจน์ไปในตัว" พ.ต.อ.ทวี ระบุ
"ปกครองพิเศษ" เงื่อนไขที่เลี่ยงไม่พ้น
หลังผ่านกระบวนการลงนามในข้อตกลงริเริ่มพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 เพียงไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์บางฉบับได้พาดหัวข่าวระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการยืนยันจากทุกฝ่ายว่ามีส่วนในการพูดคุยกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้สั่งการให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยกร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานี หรือปัตตานีมหานคร เตรียมเอาไว้แล้ว
นัยยะแห่งร่างกฎหมายดังกล่าว ก็คือการออกแบบรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเป็นข้อเสนอของบางฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมในพื้นที่บางกลุ่มมานาน แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าขยับ เพราะเมื่อเอ่ยคำว่า "ปกครองพิเศษ" ก็จะโดนกระแสต่อต้านจากสังคมไทยบางส่วนอย่างรุนแรง ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าการอนุญาตให้มีการปกครอง "รูปแบบพิเศษ" ย่อมเป็นการนับหนึ่งไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทำให้ข้อเสนอลักษณะนี้มักเป็นหมัน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากคณะทำงานริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ยอมรับว่า หากกระบวนการพูดคุยดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นเปิดโต๊ะเจรจา สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดคุยกันเรื่องนี้ เพราะดูจากการเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ ข้อสอบน่าจะใกล้เคียงกัน
"อะไรที่รับได้ มีหลักประกันที่แท้จริง ผมว่าไม่มีอะไรน่าเกลียด ถ้ามันเป็นเหตุเป็นผล ทำแล้วหยุดยิงจริงก็น่าพิจารณา" แหล่งข่าวจากคณะทำงานฯ ระบุ
ต้องดึง "สะแปอิง" ขึ้นโต๊ะเจรจา
ส่วนข่าวเกี่ยวกับ นายสะแปอิง บาซอ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยระบุว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น และเชื่อว่าหากแบ่งแยกดินแดนสำเร็จเขาจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีนั้น แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าวว่า มีข่าวว่าสะแปอิงพำนักอยู่ที่ประเทศบรูไนหรืออินโดนีเซีย แม้การพูดคุยวันที่ 28 มี.ค.นี้ นายสะแปอิงจะยังไม่มาร่วม แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องดึงมาร่วมในวงพูดคุย ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
"เราจะต้องนำมาขึ้นโต๊ะเจรจาให้ได้ เพราะเขาเป็นตัวจริง เท่าที่ทราบน้ำหนักความน่าเชื่อถือศรัทธาของการยอมรับของคนในพื้นที่ที่มีกับเขา มีพอๆ กับหะยีสุหลงเลยทีเดียว เขาเป็นผู้นำทางความคิด มีอิทธิพลสูง แต่ทราบว่าตอนนี้สุขภาพไม่ดี" แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ขวา) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร