‘โป่งลึก-บางกลอย’ ต้นแบบพัฒนาชุมชนยึดคนเป็นศูนย์กลาง
ก้าวสู่ปีที่ 4 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กับความสำเร็จขั้นสำคัญในการพัฒนาชีวิตชาวกะหร่าง ‘บ้านโป่งลึก-บางกลอย’ กว่า 2 ปี บนหลักการการมีส่วนร่วมของชุมชน-ภาครัฐ
2ปีกับการพัฒนาชุมชนชายขอบตัวอย่าง : หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย
“สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุด คือ สามารถนำศาสตร์พระราชามาแปลเป็นภาคปฏิบัติและชุมชนยอมรับได้ หลายคนถามว่าคุ้มไหมกับการทุ่มเงินหลักสิบล้านเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน 2 หมู่บ้านแค่ไม่กี่ร้อยคน บอกเลยว่า ยิ่งทำยิ่งคุ้ม เพราะนี่เป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาคนชายขอบของประเทศ แก้ที่คน ไม่ใช่ที่ป่า ด้วยการทำให้คนอยู่รอดบนความพอเพียงและยั่งยืน” ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงภารกิจสำคัญภารกิจหนึ่งของปิดทองหลังพระฯในการช่วยเหลือชาวกะหร่างหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป 38 กิโลเมตร บนเขาใจกลางป่าแก่งกระจาน ต้นแม่น้ำเพชรบุรี....
3 ปีก่อนหน้านี้ โป่งลึก-บางกลอยเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับป่า แต่ยังมีปัญหาระหว่างคนกับคน คือ ชาวบ้านกับอุทยานฯ ข้าราชการกับข้าราชการ ที่ไม่ลงรอยกันเป็นมูลเหตุสำคัญให้ชาวกะหร่างที่อาศัยอยู่มานานก่อนป่าแก่งกระจานประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ(ปี 2522)หมดหนทางทำมาหากิน
ปลุ จีโบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางกลอย เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ชาวบ้านลำบากมาก เพราะถูกบังคับห้ามทำมาหากินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หน่วยงานอื่นที่เข้ามาช่วยเหลือก็มาเป็นครั้งคราว เช่น นำเมล็ดพันธุ์มาให้ เอาเป็ดไก่มาให้ แต่เมื่อชาวบ้านยังขาดแคลนน้ำใช้และไม่มีเงินซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ ก็ไปไม่รอด ตอนแรกที่ปิดทองฯเข้ามาชาวบ้านก็กลัว เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนเก็บข้อมูลละเอียดมาก เก็บแล้วเก็บอีกอยู่หลายเดือน แต่ทุกอย่างที่ทำชาวบ้านได้มีส่วนร่วมตลอด”
การเข้ามาของปิดทองหลังพระฯ ในปี 2554 ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือการเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ……2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านจึงรู้จักการทำแปลงผักปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง มีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ มีแหล่งน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ต้องมีปัญหากับอุทยาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพทอผ้าตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย
นาขั้นบันไดกลางป่า : สัญลักษณ์ร่วมพัฒนาชุมชน – ส่วนราชการ
หากได้ขึ้นไปหมู่บ้านบางกลอยในวันนี้ ภาพที่ปรากฏ คือ ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านกำลังช่วยกันขุดนาขั้นบันไดบนพื้นที่ที่อุทยานฯจัดสรรไว้ให้ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมือง 365 ไร่ เป็นแนวกว้างสุดลูกหูลูกตา
“เดิมชาวบ้านปลูกข้าวไร่แต่ได้ผลผลิตต่ำ เพราะก่อนปลูกข้าวมักเผาป่าเผาที่นาทำให้อินทรีย์วัตถุในดินเสื่อมสลาย และมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ทำนาได้ไม่เต็มศักยภาพ” นายเจษฎา สาระ นักวิชาการเกษตร สถานีพัฒนาที่ดินจ.เพชรบุรี เล่าถึงปัญหาการปลูกข้าวไร่ตามยถากรรมของชาวบ้านก่อนหน้านี้ ซึ่งหลังจากปิดทองฯและอุทยานฯมีโครงการพัฒนาพื้นที่ปลูกนาขั้นบันไดให้ชาวบ้าน สำนักงานพัฒนาที่ดินจ.เพชรบุรี จึงได้เข้ามาร่วมมือกับชาวบ้านปรับพื้นที่นา 365 ไร่ โดยขุดที่นาตามแนวร่องเขาเพื่อเป็นทางน้ำไหลผ่านส่งน้ำไปกักเก็บยังฝายขนาดย่อมที่ขุดเตรียมไว้ 37 ฝายระหว่างคันนาด้วย
ไม่เพียงแต่ขุดปรับพื้นที่นาแต่การปรับปรุงคุณภาพดินให้นาขั้นบันไดก็เป็นสิ่งสำคัญ สถานีพัฒนาที่ดินจึงดำเนินการเก็บตัวอย่างดินไปตรวจสภาพอินทรียวัตถุ เพื่อเพิ่มแร่ธาตุแก่ดินในแปลงที่มีธาตุอาหารต่ำ โดยปลูกพืชป.เทืองและถั่วพร้าเพื่อบำรุงดิน โดยคาดว่าเมื่อถึงหน้าฝนช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ผลผลิตข้าวของชาวบ้านจะเพิ่มจากเดิม 30 ถังต่อไร่ เป็น 65 ถังต่อไร่ได้ ส่วนพื้นที่ว่างระหว่างคันนาทางเกษตรอำเภอเป็นฝ่ายวางแผนการปลูกพืชสวนครัวระหว่างคันนา และการขยายพันธุ์ปลาพื้นบ้านในลำน้ำ เพื่อสร้างแหล่งอาหาร โดยใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงพืช
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน กล่าวรับปากว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ชาวกะหร่าง 980 คน 2 หมู่บ้านอย่างเท่าเทียม คนละ 1 ไร่ โดยนาขั้นบันไดที่กำลังดำเนินการนี้ช่วยให้ชาวบ้านบางกลอยได้มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนมากขึ้นแล้ว ส่วนด้านหมู่บ้านโป่งลึกอยู่ระหว่างการจัดสรรที่ทำกินเพิ่มเช่นกัน โดยปัญหาการสวมสิทธิ์เข้ามาอาศัยเป็นชาวบ้านที่เกินมาราว 500 คนนั้น หัวหน้าอุทยานกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมการปกครองจ.เพชรบุรี และชาวบ้านในหมู่บ้านในการผลักดันคนนอกออกจากพื้นที่เอง
การแก้ปัญหาขาดแคลน ‘น้ำ’ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีพและทำการเกษตร คือ น้ำ แม้บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยจะถูกคั่นกลางด้วยสายน้ำต้นแม่น้ำเพชรบุรี แต่ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่าลำน้ำเกือบ 10 เมตร ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำเกษตรได้สะดวก แม้ว่าก่อนหน้านี้ปิดทองหลังพระฯร่วมกับชลประทานจะมีแผนการทำระบบน้ำด้วยการต่อท่อน้ำความยาวระยะทาง 14 กิโลเมตรจากฝายห้วยยายปงกระจายลงมายังหมู่บ้านไว้แล้ว แต่เมื่อมีการสำรวจอีกครั้งปรากฏว่าต้องใช้ท่อน้ำความยาวมากกว่า 14 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์ของภูเขาที่คดเคี้ยวและไม่สามารถต่อท่อน้ำเป็นแนวตรงลงมาได้ ทำให้โครงการดังกล่าวต้องยุติชั่วคราวและทำการศึกษาพร้อมจัดหางบประมาณใหม่
อย่างไรก็ดีปิดทองหลังพระฯและทางจังหวัดได้ร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องน้ำ ซึ่งนอกจากจะขุดฝายขนาดย่อมระหว่างคันนาแล้ว ยังเร่งดำเนินการสร้างระบบสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีใจกลาง 2 หมู่บ้าน เพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่นาขั้นบันไดซึ่งสูงขึ้นไปกว่า 40 เมตร โดยติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงานของเครื่องสูบน้ำเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำมัน โดยคาดว่าระบบสูบน้ำจะช่วยผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรได้ 500 ลบ.ม.ต่อวัน และอาจมีการเพิ่มระบบสูบน้ำเป็น 2 ชุด ภายใต้งบประมาณ 6 ล้านบาท
ทั้งนี้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้หลักการ“แดดมาน้ำไหล” ถือเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปีระหว่างที่ยังไม่เข้าหน้าฝนหรือไม่มีฝนตกลงมากักเก็บในฝายทั้ง 37 แห่ง โดยมีอายุการใช้งานตามอายุของแผงโซล่าร์เซลล์ที่ 20 ปี ซึ่งชาวบ้านมีความคุ้นเคยในการใช้ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งและจะใช้การได้ทันเดือนเม.ย.ซึ่งชาวบ้านจะมีการปลูกพืชก่อนนา
สัญญา?ของรัฐ : ยึดแนวทางพระราชดำริ ปิดทองหลังพระฯ
ทั้งหมดนี้ คือ ก้าวต่อไปที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกะหร่างสายเลือดไทยภายใต้หลักการทำงานสำคัญของปิดทองหลังพระฯ คือ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีการทำกินและแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเพียงอย่างเดียว
ความสำเร็จของโครงการปิดทองหลังพระฯ ทั้งที่จ.น่าน จ.อุดร และล่าสุดที่โป่งลึกบางกลอย จ.เพชรบุรี ทำให้ 4 หน่วยงานหลักที่ทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำหลักการทำงานแบบบูรณาการ ของปิดทองหลังพระฯ มากำหนดเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555-2558 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 6 ก.ย. 54 เห็นชอบภายใต้ชื่อ ‘แผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ’ โดยเน้นให้จังหวัดและอำเภอเป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ขยายผล 18 หมู่บ้าน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก น่าน สิงห์บุรี เพชรบุรี ตราด ภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา เลย
“ปี 2556 จะเป็นก้าวสำคัญของปิดทองหลังพระฯ ในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริให้เป็นระบบปกติของราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วขณะนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำลังยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่เชิงประยุกต์ขึ้น” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว
โดยถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่รัฐบาลยอมรับและจะยึดหลักจากการทำงานแบบเข้าใจ เข้าถึง และยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง เช่น การพัฒนาหมู่บ้านกะหร่างโป่งลึก-บางกลอย มาใช้กับระบบราชการเดิมที่ล่าช้าและเน้นแต่การหยิบยื่นให้ อย่างไรก็ดีม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลา “บางจังหวัดทำงานกับมูลนิธิปิดทองฯมาถึง 2 ปี แต่ก็ยังร่างแผนงานเป็นรูปธรรมไม่ได้ ความยากคืออะไร ก็เพราะเขาไม่ได้ผลประโยชน์ ฉะนั้นมันจึงต้องค่อยๆเปลี่ยน ราชการต้องค่อยๆคิด” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวทิ้งท้าย
………………………………
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน ตามแนวพระราชดำริของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ไม่ใช่การตกปลาให้คนหิวกิน แต่คือการสอนให้คนรู้จักทำเบ็ด หาปลา และถนอมอาหาร สร้างคนให้เข้มแข็งบนรากเหง้าของตนอย่างยั่งยืน “ถามว่ารัฐบาลอยากให้ชุมชนเข้มแข็งหรืออ่อนแอเพื่อจะได้ปกครองได้” ม.ร.ว.ดิศนัดดาปรารภไว้ ถ้าอยากให้ชุมชนเข้มแข็งจริง คำสัญญาของรัฐบาลที่จะนำแนวพระราชดำริไปใช้ในระบบราชการย่อมต้องปรากฏให้เห็น...เวลานี้หากรอดูข้าวบนนาขั้นบันไดงอกงามเมื่อฝนมา...น่าจะเห็นผลเร็วกว่า.
บทความที่เกี่ยวข้อง ::
‘แปลงผักโป่งลึก-บางกลอยงอกงามบนความหวังอยู่ร่วมกับผืนป่าแก่งกระจาน’ http://bit.ly/XzDhL5
'โป่งลึก บางกลอย&อุทยานแก่งกระจาน : "ปิดทองหลังพระ" คิดใหม่แก้ปมคนกับป่า' http://bit.ly/WRV3sZ